อีจัน-ทส.ลุยรื้อ 30 รีสอร์ทดอยม่อนแจ่ม สั่งเรียกค่าเสียหายอีก 1.5 ล้านบาท หลังสิ้นสุดเวลายื่นอุทธรณ์โต้แย้ง เผยพบรุกที่ป่าผิดกฎหมายกว่า 1.3 หมื่นไร่
(31 ส.ค. 63) นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินและการรื้อถอนรีสอร์ทผิดกฎหมายที่ดอยม่อนแจ่ม และพื้นที่ใกล้เคียงใน ต.โป่งแยง และ ต.แม่แรม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่พบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งรื้อถอนรีสอร์ทไปแล้ว 30 แห่ง และทั้งหมดสิ้นสุดระยะเวลาการอุทธรณ์ในวันที่ 30 ส.ค. 63
ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ารื้อถอนรีสอร์ทม่อนดอยลอยฟ้าเป็นจุดแรก ตามมาตรา 25 กฎหมายป่าไม้ เป็นบ้านพักโฮมสเตย์ จำนวน 8 หลัง บ้านพักอาศัย จำนวน 2 หลัง และ โรงครัว 1 หลัง ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ความคุมอาคาร
ขณะเดียวกันยังเข้าตรวจยึดพื้นที่ “แสงอรุณ CAMP” พื้นที่ 1 ไร่ 93 ตารางวา พร้อมแจ้งความดำเนินคดีกับนายสมบัติ เมธาอนันต์กุล ข้อหาเปลี่ยนการครอบครอง ไม่เป็นไปตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541
นอกจากนี้ยังเข้าตรวจสอบพื้นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด “ม่อนวิวงาม” พบมีการบุกรุกขยายพื้นที่เพิ่มเติมจากเดิมและยังก่อสร้างอาคารที่พักบริการนักท่องเที่ยวครอบคลุมเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน มีสิ่งปลูกสร้างจำนวน 130 รายการ ทั้งยังดำเนินการในลักษณะธุรกิจชัดเจน นอกจากนี้ยังมีถนนคอนกรีตกว้าง 2 เมตร ยาว 15 เมตร ในสถานประกอบการ และยังมีการติดตั้งถังเก็บกักน้ำ ต่อระบบประปาโดยใช้ท่อพีวีซีไปยังสถานประกอบการ ซึ่งนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้ร้องทุกข์กล่าวโทษและฟ้องเรียกค่าเสียหายของรัฐ จำนวน 1,527,988.45 บาท
นายธเนศพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบสิ่งก่อสร้างที่ผิดกฎหมายในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม กว่า 13,000 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ดอยม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง ใน ต.โป่งแยง และ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พบว่า ขณะนี้มีผู้ที่เข้าข่ายในการกระทำความผิด ด้วยการเข้ามาทำรีสอร์ทหรือประกอบธุรกิจในเชิงโรงแรม จำนวนทั้งสิ้น 113 ราย ซึ่งเป็นการนำที่ดินไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวง
แบ่งเป็นกลุ่มที่ทำผิดวัตถุประสงค์เล็กน้อย 82 ราย และทำผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน 30 ราย โดยในกลุ่ม 30 ราย นี้ ได้มีการกระทำผิดอย่างชัดเจนจากการเปลี่ยนมือเจ้าของ หรือมีการขายกิจการให้กับนายทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายจนถึงที่สุด ซึ่งหลังจากได้แจ้งความดำเนินคดีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ก็ได้เปิดโอกาสให้เจ้าของสถานประกอบการได้ดำเนินการอุทธรณ์ โต้แย้ง และใช้สิทธิทางกฎหมายในการชี้แจงการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่อง ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน จนมาถึงวันที่ 30 ส.ค. 63 เป็นวันที่ครบกำหนดและสิ้นสุดการใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้ง เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้กฎหมาย มาตรา 25 เริ่มดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เริ่มต้นจากม่อนดอยลอยฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นรีสอร์ทแห่งแรกที่ถูกดำเนินการรื้อถอน หลังจากที่ได้มีความพยายามเร่งจัดระเบียบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนอีก 29 รายที่เหลือจะทยอยรื้อถอนต่อไป
ส่วนในกลุ่มที่ทำผิดวัตถุประสงค์เล็กน้อยอีก 82 ราย เจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้มีการปรับปรุงแก้ไขการใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย/ทำกิน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) เพื่อร่วมกันติดตามเฝ้าระวังและร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้มีผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งในที่ประชุมก็ได้เห็นชอบกับการดำเนินการดังกล่าว และเมื่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ม่อนแจ่มประสบผลสำเร็จแล้ว ก็จะเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาให้กับเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ อื่นๆ ทั่วประเทศได้
สำหรับ รีสอร์ท 30 ราย ที่ถูกดำเนินคดีและถูกรื้อถอน ประกอบด้วย
1.ภูชวนหลง
2.บ้านท่าจัน
3.ม่อนซาน
4.ม่อนแสงระวี
5.ม่อนซากุระ
6.แสงเหนือแคมป์ปิ้ง
7.หลังสวนโฮมสเตย์
8.ภูเบิกฟ้า
9.ม่อนดาวเรือง
10.ม่อนผาสุข
11.ม่อนอิงดาว
12.บ้านภูหมอก
13.ม่อนเหนือ 1, 2
14.ม่อนดูดาว
15.ม่อนจ้อ
16.แสงอรุณ CAMP
17.ม่อนวิวงาม
18.เบสท์แลนด์
19.ม่อนไอดิน
20.ไร่นาย
21.ม่อนดอยลอยฟ้า
22.ม่อนใจ
23.ระเบียงร้อยดาว
24.ม่อนม่วน
25.ม่อนไม่มีชื่อ
26.ม่อนแสนสิริจันทรา
27.ม่อนพอเพียง
28.มายาแคมป์ปิ้ง
29.ม่อนไม่มีชื่อ
30.แคมป์ไซอิ๋ว