นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสารพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ปปช.) เปิดเผย กรณีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน () ยื่นขอข้อมูลได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา
จากนั้น iLaw ได้เปิดเผยข้อมูลว่า นอกจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ของ ส.ว. กว่าแสนบาทต่อคนต่อเดือนแล้ว ส.ว.ยังสามารถแต่งตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้อีก 3 ตำแหน่ง รวม 8 คนประกอบด้วย 1. ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว มีได้ 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาท 2. ผู้ชำนาญการประจำตัว มีได้ 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน และ 3. ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวหรือผู้ช่วย ส.ว. มีได้ 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายในระยะเวลา 3 ปี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเข้ารับตำแหน่งในวุฒิสภา คิดเป็นเงินงบประมาณที่ต้องจ่ายเพื่อตำแหน่งในคณะทำงาน รวมกว่าพันล้านบาท โดยพบข้อมูลว่า มี ส.ว. หลายสิบคน แต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้ช่วยเพื่อรับเงินเดือนหลักหมื่นบาทนี้
นายตรีรัตน์ ระบุว่า วันพุธที่ 22 มิ.ย. นี้. ตนจะนำเรื่องนี้ยื่นร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการ ปปช. ขอให้คณะกรรมาธิการ ปปช. ตรวจสอบว่า กลุ่ม ส.ว. ดังกล่าว ประพฤติมิชอบ และอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 หรือไม่ ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนเรื่อง การไม่ให้สมาชิกรัฐสภานำตำแหน่งของตน แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยหากข้าราชการสภาฯ คนใดรู้เห็นไปใจ ก็อาจผิดมาตรา 157 เช่นกัน