ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนถือเป็นการรุกรานชาติยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสั่นคลอนความมั่นคงของยุโรป ทั้งยังทำให้รัฐบาลยุโรปหลายชาติต้องหันมาทบทวนจุดยืนของกลุ่ม ตลอดจนนโยบายในด้านเศรษฐกิจ การป้องกันประเทศ และพลังงาน
อียูได้มีมติเห็นพ้องอย่างรวดเร็วในการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และมอบความช่วยเหลือทั้งด้านการเมืองและมนุษยธรรมต่อยูเครน รวมถึงส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปช่วย ภายในไม่กี่วันหลังจากที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการรุกรานแผ่นดินยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.
อย่างไรก็ตาม สัญญาณความไม่ลงรอยในกลุ่มเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อรัฐบาลยูเครนออกปากเรียกร้องขอให้อียูเร่งรัดกระบวนการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก รวมถึงประเด็นที่ว่ายุโรปจะลดการพึ่งพาน้ำมันและเชื้อเพลิงจากรัสเซียได้เร็วแค่ไหน
“ไม่มีประเทศไหนสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ในชั่วข้ามคืน” นายกรัฐมนตรี อันเดรย์ เปลงกอวิช แห่งโครเอเชีย กล่าวระหว่างการประชุมผู้นำ 27 ชาติอียู ซึ่งจัดขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายส์ ชานกรุงปารีส ระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค.ที่ผ่านมา
ชาร์ลส์ มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรป ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจและพยายามให้กำลังใจยูเครนด้วยการกล่าวว่า “ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวยุโรป” ทว่าผู้นำยุโรปอีกหลายชาติแสดงจุดยืนตรงกันว่าไม่เห็นด้วยกับการรีบร้อนรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เรียกร้อง และได้รับการสนับสนุนพอสมควรจากชาติเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันออก
นายกรัฐมนตรีมาร์ก รึตเตอ แห่งเนเธอร์แลนด์ซึ่งไม่สนับสนุนการขยายขนาดของอียู ย้ำว่า “ไม่มีกระบวนการฟาสต์แทร็ก” แต่ยืนยันว่าอียูจะยังคงยกระดับความสัมพันธ์กับยูเครนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
“ผมอยากจะโฟกัสในประเด็นที่ว่าเราสามารถจะทำอะไรเพื่อ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้บ้างในคืนนี้และวันพรุ่งนี้ ส่วนการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียูเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันในระยะยาว ถ้าหากจะมี” รึตเตอ กล่าว
ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ย้ำว่า อียูไม่ได้ปิดประตูสำหรับการรับสมาชิกใหม่เสียทีเดียว
“เราควรเปิดกระบวนการรับชาติสมาชิกใหม่ที่กำลังเผชิญสงครามอยู่หรือไม่? ผมคิดว่าไม่ แต่เราจะปิดประตูตายและพูดว่าไม่มีทางงั้นหรือ? ผมว่ามันก็ไม่เป็นธรรม เราจะมองข้ามเรื่องสมดุลอำนาจในภูมิภาคได้หรือไม่? ผมว่าก็ต้องใช้ความระมัดระวัง” ผู้นำฝรั่งเศสกล่าว
ผู้นำอียูบางประเทศเรียกร้องมาตรการแซงก์ชันอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย แม้มันจะหมายถึงผลกระทบต่อชาติยุโรปที่ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากแดนหมีขาวก็ตาม
ปัจจุบันอียูนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราว 40% จากความต้องการทั้งหมด โดยชาติที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และอีกหลายประเทศในยุโรปกลาง
อียูยังมีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียประมาณ 1 ใน 4 ของความต้องการ
นายกรัฐมนตรีอาร์เทอรส์ คริสยานิส คารินช์ แห่งลัตเวียซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ชี้ว่า การแบนน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะบีบให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยอมเปิดเจรจา ขณะที่ โอลาฟ ชอลซ์ นายกฯ เยอรมนี ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้อียูหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียภายในปี 2027 โดยเธอเตรียมที่จะนำเสนอ “โรดแมป” สำหรับเป้าหมายดังกล่าวในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้
ที่มา : Al-Jazeera