เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ลำพูน ฉุดไม่อยู่ แรงเงียบ ! ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ พรึ่บ 29 ตัว

#ลำพูน ฉุดไม่อยู่ แรงเงียบ ! ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ พรึ่บ 29 ตัว

24 July 2022
328   0

 

 

‘จังหวัดเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจึงได้มีโครงการสนับสนุนการก่อสร้างทั้งสิ้น 29 แห่ง!!’

นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ในการต้อนรับ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วย “นวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์” พร้อมด้วยนายอำเภอทุ่งหัวช้าง นายอำเภอลี้ นายอำเภอบ้านโฮ่ง นายอำเภอเวียงหนองล่อง นายกเทศมนตรีตำบลศรีเตี้ยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ เทศบาลตำบลศรีเตี้ย

‘ในปี 2564 – 2565 ได้รับงบประมาณมาปรับปรุงฝายบ้านโฮ่งหลวงซึ่งดำเนินการใกล้จะแล้วเสร็จ กรณีของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์นั้น ทางจังหวัดได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจึงได้มีโครงการสนับสนุนการก่อสร้างทั้งสิ้น 29 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ’ ผู้ว่าจังหวัดลำพูนกล่าวต่อที่ประชุม

ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวต่อที่ประชุมทันทีว่า ‘ต้องขอขอบคุณ ชื่นชมและดีใจแทนพี่น้องชาวลำพูน ที่ท่านผู้ว่าฯ ยอมรับความคิดนวัตกรรมใหม่ๆ กล้าตัดสินนำแนวคิดมาปฎิบัติ ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์มีน้ำใช้แน่นอน’

‘คณะกรรมาธิการเล็งเห็นว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการผลิตของภาคเกษตรกรรมที่มีพี่น้องเกษตรกรเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีทั้ง 365 วัน คณะกรรมาธิการฯ จึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาแบบจุลภาคคือเข้ามาศึกษาและรับฟังปัญหาในแต่ละพื้นที่ และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามความจำเป็นและความต้องการของแต่ละพื้นที่’

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการขออนุญาตสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์จากกรมเจ้าท่า ก็จะมีการประสานทำความเข้าใจกับหน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงได้มีการก่อสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซิเมนต์ในแม่น้ำและลำน้ำต่างๆ มาแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางส่วน

นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 และอนุกรรมาธิการฯได้ให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ และยินดีในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้ง นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 แนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเอกสารและช่องทางในการเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กอีกด้วย

จากนั้นคณะเดินทางได้ลงพื้นที่ศึกษาสภาพของลำน้ำลี้ที่จะสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นดินทราย ตลิ่งค่อนข้างสูง มีน้ำขังอยู่ในลำน้ำเป็นช่วงๆ อยู่บ้าง สลับกับสันทรายโผล่เหนือระดับน้ำ ถ้ามีการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์เป็นช่วงๆ จะทำให้ลำน้ำลี้สามารถกักเก็บน้ำไว้ให้ประชาชนทั้งสองฝั่งจะได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคและใช้ในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปีและทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การลงพื้นที่ของจังหวัดลำพูนในคราวนี้ ผมมีแง่คิดและข้อสังเกตกับตัวเองดังต่อไปนี้ครับ

ประการแรก ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ มีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำสูง เพราะท่านเป็นผู้สนใจศึกษาค้นหาความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสังคมอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด

ท่านมีความสนใจที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้แก่พี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนชาวลำพูนอย่างไม่หยุดหย่อน นอกจากนี้ท่านยังมีบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตนและตั้งใจรับฟังปัญหาต่างๆ ด้วยความสนใจ

คุณสมบัติเช่นนี้เอง ท่านจึงเป็นผู้ว่าฯท่านแรกในรอบสามปีของการเป็นวุฒิสมาชิก ที่ทำให้ผมประทับใจในตัวท่านมาก จนกระทั่งทุกครั้งเมื่อผมกล่าวถึงท่าน ผมมักจะพูดว่า “ท่านผู้ว่าที่นับถือและเคารพรัก” ผมคิดว่าเป็นความโชคดีที่ได้มารู้จักท่าน และผมได้กล่าวกับท่านต่อหน้าทุกๆ คนในห้องประชุมว่า “ผมจะรำลึกถึงท่านตลอดไป ในฐานะข้าราชการที่ดีและเป็นคนดีของสังคม”

ประการที่สอง ลำน้ำลี้มีความยาวทั้งสิ้น 210 กิโลเมตร และไหลผ่านอำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอแม่ทา ไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ต้นน้ำลี้มีความสูงเหนือกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร ส่วนท้ายน้ำลี้มีความสูงเหนือกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร นั่นคือความสูงระหว่างต้นน้ำกับท้ายน้ำลี้ มีความสูงแตกต่างกันถึง 400 เมตร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือลำน้ำลี้มีความลาดชันสูงมาก จนกระทั่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างง่ายๆ ในหน้าน้ำก็ไม่สามารถเก็บน้ำในลำน้ำเอาไว้ได้ ยิ่งในหน้าแล้งก็จะไม่มีน้ำเหลืออยู่ในลำน้ำลี้เลย พื้นดินของลำน้ำลี้เต็มไปด้วยต้นหญ้าและวัชพืชหนาแน่นไปหมด

ดังนั้นการกักเก็บน้ำในลำน้ำลี้จึงเหมาะจะใช้การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์มากที่สุด เพราะสร้างง่ายต้นทุนต่ำและสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้จริง เกษตรกรจะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีโดยไม่ขาดแคลนอีกต่อไป

ประการที่สาม การสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำลี้ ไม่เป็นการตอบโจทย์ของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ได้ เพราะในหน้าน้ำ เมื่อมีปริมาณน้ำจำนวนมาก จนกระทั่งน้ำล้นจากลำน้ำลี้ไปท่วมบ้านเรือนของประชาชนนั้น ประตูระบายน้ำจำเป็นต้องเปิดให้น้ำไหลทิ้งออกไป ส่วนในหน้าแล้ง ประตูระบายน้ำเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ให้แก่เกษตรกรได้

ผมเห็นว่าประตูระบายน้ำที่สร้างไปแล้วและไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรเลย อาจปรับเปลี่ยนเป็นฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำให้แก่เกษตรกรได้และยังสามารถใช้น้ำตลอดทั้งปีได้ ส่วนด้านบนของประตูระบายน้ำอาจปรับเปลี่ยนเป็นถนนให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้ใช้เดินทางข้ามไปมาระหว่างคลอง

ประการที่สี่ สถานีท่อส่งน้ำที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายนั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะในลำน้ำลี้ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะให้สูบน้ำไปใช้ประโยชน์ได้

ประการที่ห้า ระเบียบ คำสั่งและหลักเกณฑ์จำนวนมากของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับน้ำ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นที่ตั้ง

ตัวอย่างเช่น การขออนุญาตสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในลำน้ำลี้ ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้สร้างเพราะเห็นว่าฝายแกนดินซีเมนต์เป็นฝายถาวร และการสร้างฝายในลำน้ำลี้ อาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรไปมาในทางน้ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วฝายแกนดินซิเมนต์เป็นเพียงฝายชั่วคราว และในลำน้ำลี้ก็ไม่มีการสัญจรไปมาในทางน้ำมายาวนานเกินกว่า 20 ปีแล้ว และหากเจ้าหน้าที่คำนึงถึงเรื่องการสัญจรไปมาในลำน้ำลี้ เพราะเหตุใดจึงอนุญาตให้มีการสร้างประตูเปิดปิดน้ำจำนวนหลายแห่ง ซึ่งเมื่อก่อสร้างขึ้นแล้วก็ไม่มีทางที่เรือจะสัญจรไปมาได้

ผมคิดว่าการที่เจ้าหน้าที่ท่านนี้ให้ความเห็นข้างต้นโดยไม่มีการลงไปสำรวจความเป็นจริงของพื้นที่ เลยเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยของตนเอง นี่เป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้ ที่ไม่มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งรู้ปัญหาในพื้นที่ดีกว่าข้าราชการในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ดีผมมองว่านี่เป็นปัญหาของตัวบุคคล ไม่ใช่ปัญหาขององค์กร เพราะที่ผ่านมายังไม่มีเคยมีกรณีที่เกิดขึ้นแบบนี้มาก่อน

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

24 กรกฎาคม 2565