18 กรกฎาคม 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีรัฐมนตรีหลายคนมาพูดคุยขอคำปรึกษาก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เป็นการพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด ไม่มีใครขอคำปรึกษาด้านกฎหมายจากตน เพียงแต่ตนได้เล่าถึงสมัยอดีต ในยุคที่นายกรัฐมนตรีหลายคน เช่น นายกฯชวน นายกฯบรรหาร นายกฯชวลิต นายกฯทักษิณ ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง และเป็นอย่างไรในการอภิปรายในสมัยนั้น เล่าให้ฟังสนุกๆ เพราะรัฐมนตรีหลายคนไม่ได้อยู่ในรัฐบาลยุคนั้น
ทั้งนี้ มองว่าการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นธรรมดา ไม่ได้หนักเบาไปกว่ากัน แต่รอบนี้ผู้ถูกอภิปราย 11 คน ถือว่าเยอะ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง ครม. ก็เคยมีมาแล้ว ตนไม่ได้เจตนาที่จะหวังผลปลุกใจก่อนวันอภิปรายตามที่ถูกวิจารณ์ แต่เป็นคนที่อยากจะเล่าให้รัฐมนตรีฟังถึงเรื่องในอดีต ไม่ใช่ว่ามีใครหวั่นไหวอะไร ซึ่งหากจะเป็นห่วงก็คืออภิปราย 11 คน ในเวลาเพียง 4 วัน อาจจะตอบได้คนละนิด จึงเกรงในเรื่องการบริหารเวลาทั้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่อาจจะยากหน่อย
ส่วนเรื่องการวางคิว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นคนสุดท้าย จะเป็นเทคนิค หรือนัยยะของฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ วิปทั้งสองฝ่ายตกลงกันอย่างไร ตนไม่ทราบ แต่ถ้าจะลำดับเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะหากตนเป็นฝ่ายค้านก็จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน
ทั้งนี้ ผู้อภิปราย 1 คน สามารถอภิปรายรัฐมนตรีหลายคนได้ ซึ่งฝ่ายค้านแบ่งเอาไว้เป็นสูตร 2 : 3 : 3 : 3 คือ เริ่มที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต่อมาคือพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายจุติ ไกรฤกษ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี จากนั้นคิวพรรคพลังประชารัฐ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายชัยวุฒิ ธนาขมานุสรณ์ และนายสุชาติ ชมกลิ่น ส่วนวันสุดท้ายคือ 3 ป. ซึ่งก็เป็นระเบียบดี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลไม่ได้มีการจัดระเบียบอะไร แต่เตรียมไว้ให้รัฐมนตรีแต่ละคนตอบประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนนายกฯตอบ 5 ชั่วโมง แต่ถ้ารัฐมนตรีจะตอบมากกว่านั้น ก็ไปตอบหลังเที่ยงคืน หรือไปตอบนอกสภา ดังนั้น สิ่งที่น่าห่วงคือการบริหารเวลา
ส่วนเสียงปริ่มน้ำ ไม่เห็นว่ามีใครห่วง ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่ง คือ คะแนน 238 ครึ่ง ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีได้ 239 ตามที่โหวตไม่ไว้วางใจ ถือว่ารัฐมนตรีคนนั้นสอบตก ส่วนคะแนนเสียงไว้วางใจจะมีเท่าไรนั้น ในทางกฎหมายไม่เป็นสาระสำคัญ เช่น อาจจะงดออกเสียงเป็นร้อยเลยก็ได้ แต่ในความรู้สึกของสื่อและประชาชน จะไปจับตาดูว่าคะแนนไว้วางใจมีเท่าไร แล้วเอามาเปรียบเทียบ แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ไม่ได้ให้เทียบเช่นนั้น โดยรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาที่มีอยู่
“วันนี้สภามี 477 เสียง ดังนั้น ก็ต้องคอยดูว่าคะแนนที่จะได้แต่ละคนเป็นอย่างไร ส่วนใครจะได้เท่าไรถือเป็นเทคนิคฝ่ายการเมือง ผมไม่ทราบว่าใครมีคะแนนอยู่เท่าไหร่ ตอนนี้เราก็รู้อยู่ว่าฝ่ายค้าน 206-207 เสียง และบางคนยังบอกว่ามีฝากเลี้ยง มีงูเห่า แต่สำหรับผมไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งตัวเลข 239 ถือเป็นตัวเลขหลักที่อยากให้ทำความเข้าใจกับประชาชน ที่จะต้องดูที่ 239 เสียง” นายวิษณุ กล่าว
ถามต่อว่า คะแนนของรัฐมนตรีแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเท่ากันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรผิดบาป เพียงแต่ทำให้รู้สึกเสียเครดิต เสียรังวัดไปนิดหน่อยว่าคนนั้นได้รับความไว้วางใจมากกว่าคนนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นต้องต้องถือสา อภิปรายกันมา 3 ครั้งแล้วในรัฐบาลนี้ และคะแนนเสียงไว้วางใจก็ไม่ได้เท่ากัน
เมื่อถามว่า มีการเรียกร้องว่าหากใครได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูง จะต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า โดยมารยาทไม่มีปัญหา
เมื่อถามย้ำว่า หากคนนั้นคือนายกฯ จะต้องรับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองก็ไม่เคยมีมารยาทอะไรในเรื่องนี้ ผ่านไป 7 วันก็ลืมกันแล้ว ถ้าใครได้ไม่ถึง 239 ก็อยู่ไป
เมื่อถามว่า นายกฯ เครียดกับการเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่รู้ สื่อก็ไปถามนายกฯ ดูสิ และเดี๋ยววันที่ 23 ก.ค. ช่วงเช้าก็รู้ว่าใครได้คะแนนอย่างไร เเละถ้ามีรัฐมนตรีที่ไม่ถูกยื่นอภิปราย แต่ถูกพาดพิงก็สามารถลุกขึ้นชี้แจงได้ จะปล่อยให้ถูกด่าฟรีได้อย่างไร เช่น ถ้าอยู่ดีๆ อภิปรายเรื่องพลังงาน โดยไปซ่อนอยู่ในการอภิปรายนายกฯ ทางนายกฯ ก็มอบ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ตอบแทนได้