เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของประเทศไทย ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรก นับเป็นประเทศที่ 66 จากทั่วโลก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกหารือกันครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2565 ยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ คือ โรคต้องรุนแรง ติดต่อได้ง่าย และมีการจำกัดการเดินทาง โดยในช่วง 2 เดือนพบผู้ป่วยเพียง 1.4 หมื่นกว่าราย ส่วนใหญ่หายได้เอง และเสียชีวิตน้อยมาก
สำหรับชายชาวไนจีเรียอายุ 27 ปี ที่เป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของไทย ตำรวจและ จ.ภูเก็ตตรวจสอบติดตามพบว่า เดินทางมาจากเมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ระบุตอนเข้าประเทศว่า จะมาเรียนภาษาที่ จ.เชียงใหม่ แต่ไม่ค่อยปรากฏข้อมูลว่าไปทำกิจกรรมหรือไปเรียน หลังเจ้าหน้าที่ติดต่อไปไม่ให้ความร่วมมือ ลักษณะไม่เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เวลาเป็นโรคอะไรก็ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีพฤติกรรมหลบหนี ชัดเจนเพราะเจ้าหน้าที่ติดต่อหลายครั้งก็หลบเลี่ยง
“ข้อมูลล่าสุดทราบว่า พบสัญญาณมือถือแถวชายแดน จ.สระแก้ว ดังนั้น นักท่องเที่ยวรายนี้น่าจะไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือในเรื่องการหลบหนีในประเทศไทย ตรงนี้รายละเอียดต่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะน่าจะมีเหตุการณ์อื่น กฎหมายอื่นใช้ร่วมกัน เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องติดตาม” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ภูเก็ต ตม.ส่วนกลาง และจังหวัดชายแดน รวมทั้งข้อมูลที่ได้เบื้องต้นอาจจะหลบหนีผ่านช่องทางชายแดนธรรมชาติ จึงขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศประสานไปจังหวัดชายแดนของกัมพูชา ที่คาดว่าจะหลบหนีไปเพื่อติดตามป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดต่อไป รวมทั้งจังหวัดที่ติกัน คือ สระแก้วจะประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝั่งตรงข้ามเพื่อติดตามผู้ติดเชื้อรายนี้ต่อไป
นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคนี้ไม่ได้เป็นติดต่ออันตราย แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มาตรการสำคัญคือ จัดระบบเฝ้าระวัง ให้ความรู้ ดูว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างเมื่อเจอผู้ป่วยรายนี้ สิ่งที่เราทำ คือ หาผู้ป่วย ผู้สัมผัส และค้นหาเชิงรุกคล้ายกับโรคโควิด แต่ความรุนแรงและความสามารถการระบาดของโรคฝีดาษลิงต่ำกว่า จึงไม่ได้กักตัวเข้มข้น จะใช้การสังเกตอาการของผู้สัมผัสหรือผู้ที่มีความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดติดต่อสอบถาม ตรวจแล็บเป็นระยะ จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค 21 วัน ต่างจากโควิดที่ใช้เวลา 14 วัน
“จากการสอบประวัติเบื้องต้นพบผู้ต้องสงสัยสถานที่ต่างๆ และคัดกรองเชิงรุก โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต พบสถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยไปใช้บริการ จะคัดกรองดูจากอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือตุ่มขึ้น คัดกรอง 142 ราย พบไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว 6 ราย ยืนยันว่าไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่งตรวจหาเชื้อ 5 รายไม่พบเชื้อ ส่วนอีกรายไปต่างประเทศ ส่วนที่เหลือไม่มีตุ่มขึ้นต้องติดตามอาการครบ 21 วัน” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า จ.ภูเก็ตหรือจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้องต้องค้นหาเชิงรุกเฝ้าระวัง โดยเฉพาะผู้มีอาการผื่น มีตุ่มผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สงสัยที่มารับบริการที่ รพ.ต่างๆ ต้องสุ่มตรวจ คือ ซักข้อมูลย้อนหลังกลับไปว่าช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ถึงปัจจุบัน มีผู้มารับบริการรายใดมีผื่นขึ้นหรือได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลและสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจ เบื้องต้นมี 183 ราย แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นผู้สัมผัส เป็นการค้นหาเชิงรุกย้อนหลังจากคนมีอาการต้องสงสัยหรืออาการเข้าได้ เพื่อยืนยันค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
ส่วนการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด จากประวัติที่ได้รวม 33 ราย พบว่าไม่มีอาการป่วย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย ได้แก่ เพื่อนผู้ป่วยที่พักอาศัย 2 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ ส่วนที่เหลือ 17 ราย เป็นคนขับรถรับจ้าง 1 ราย พนักงานและผู้พักในโรงแรมย่านป่าตอง 2 แห่ง รวม 9 ราย และร้านซักอบผ้า 2 แห่ง 7 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ทั้งหมดจะมีการสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิด 21 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมี 14 ราย อยู่ภายใต้การสังเกตอาการของเจ้าหน้าที่จนครบ 21 วัน สรุปเมื่อรวมกับการค้นหาเชิงรุกแล้วสรุปส่งตรวจหาเชื้อรวม 38 ราย ไม่พบเชื้อ 7 ราย และอยู่ระหว่างตรวจหาเชื้อ 31 ราย
นพ.โอภาสกล่าวว่า กรมควบคุมโรคยกระดับการเฝ้าระวังเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่งตรวจหาเชื้อชาวต่างชาติในสถานพยาบาล คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกสุขภาพทางเพศ หากมีผู้ต้องสงสัย มีตุ่มผื่นลักษณะเข้าได้ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อธิบายไม่ได้มารับบริการ เรามีการชี้แจงผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทั่วประเทศ 500 แห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่วนคำแนะนำประชาชน ย้ำว่า ฝีดาษลิงติดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่ายๆ จากทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ขอให้งดใช้สิ่งของร่วมผู้ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ คนมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลือง ตุ่มน้ำ ตุ่มใส ตุ่มหนองสงสัยที่อวัยวะเพศ แขนขา ลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า ร่วมประวัติเสี่ยง คือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เดินทางจากต่างประทศมีกิจกรรมที่มีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง อาชีพคลุกคลีกับคนเดินทางมามาก มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะจากแอฟริกา ขอพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และแจ้งประวัติเสี่ยง กรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิงต่างชาติแนะนำให้พบแพทย์ไม่ควรหลบหนี การไปพบแพทย์รับการรักษาจะไม่แพร่เชื้อผู้อื่น หากหลบหนีผิดกฎหมายประเทศไทยจะมีมาตรการต่างๆ ดำเนินากร
“โรคนี้ไม่ติดง่าย คนเราทั่วไปใช้ชีวิตตามปกติ ความเสี่ยงแทบจะเป็นศูนย์ ไม่ต้องกลัวหรือกังวลมาก บางคนถามฉี่กระเด็นใส่ติดหรือไม่ ก็คงไม่ติด เชื้ออยู่ตามตุ่มหนอง ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันจริงๆ ถึงจะติด เดินเฉียดกันไม่ติดแน่นอน เปรียบเทียบก็ติดยากกว่าโรคเอดส์ด้วยซ้ำ ตุ่มอาจดูน่ากลัว แต่ 2 สัปดาห์ก็แห้งไปและไม่แพร่คนอื่น” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงไม่มาก กำลังระบาดอยู่ และสายพันธุ์แอฟริกากลาง ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและมีความรุนแรงมากกว่า รอบนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีสายพันธุ์ย่อย A กับ B ซึ่งอนาคตก็จะมีการกลายพันธุ์ย่อยไปอีก โดยการระบาดที่ยุโรป ตอนนี้ คือ สายพันธุ์ B.1 ส่วนสายพันธุ์ของผู้ป่วยรายแรกในไทย คือ A.2 มีความสัมพันธ์กับสายพันธุ์ที่ระบาดในอเมริกา แต่ไม่ได้แปลว่าติดเชื้อจากอเมริกาหรือที่ไหน ซึ่งประวัติชัดๆ ต้องพบตัวและสอบถามซักประวัติอีกครั้ง
ถามว่าพื้นที่จังหวัดเฝ้าระวังพิเศษช่วงนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า คงไม่ระบุจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ทุกจังหวัดควรตื่นตัว การเฝ้าระวังสถานพยาบล เวลามีตุ่มขึ้นไปที่ รพ.ให้ทุกสถานพยาบาลตื่นตัว ตรวจสอบคนมีตุ่มสงสัย ประวัติเสี่ยงเข้าได้เพื่อดูแลต่อไป ภูเก็ตเราจะคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นไม่ได้เสี่ยงมาก มาตรการต่างๆ น่าจะเหมาะสมสถานการณ์
ถามว่าโรคฝีดาษลิงในเด็กเล็กรุนแรงหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคนี้ตามข้อมูลที่ทราบในปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาด คือ แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงน้อย เสียชีวิตไม่มาก แต่ทุกโรคติดต่อ กลุ่มเปราะบางมีโอกาสติดเชื้ออาการรุนแรง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนมีโรค ต้องหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสผู้ป่วย รอบนี้การระบาดทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงกลางคน เด็กเล็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงโอกาสติดน้อย พ่อแม่ขอให้หลีกเลี่ยงอย่าให้คนมีตุ่มสัมผัสเด็ก ใช้ชีวิตตามสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ผู้ป่วยไม่ควรไปสัมผัสคนมีตุ่มหนอง