โอดเทียบราคายางตกต่ำซื้อข้าวแกงได้จานเดียว “แกนนำยาง” ทั่วประเทศ คิกออฟ 6 พ.ย.เปิดโต๊ะลงชื่อขับไล่ ผู้ว่าฯ-พล.อ.ฉัตรเฉลิม ประธานบรอ์ด กทย.พ้นตำแหน่ง ทนไม่ไหวบริหารล้มเหลวทำราคายางต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ยางก้อนถ้วย เหลือ 6 โล 100 บาท วอนนายกฯ อย่าเชื่อใครขี้โม้เศรษฐกิจ อาจพลาดนั่งนายกฯรัฐบาลหน้า”
แนวหน้า – นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สยยท.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 6 พ.ย.นี้ ในเวลา 10 .00 น. เครือข่าย สยยท.ทั่วประเทศและเกษตรกรสวนยาง หลายร้อยคนที่เดือดร้อนจากราคายางตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ร่วมตัวกันประชุมที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จ.สุราษฐ์ธานี พร้อมกันนี้นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมกรีดยาง และเครือข่าย ตั้งโต๊ะลงชื่อปลด นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่า กยท.และบอร์ด กยท. ที่มี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ดและคณะ ออกจากตำแหน่งทั้งหมด สาเหตุบริหารงานล้มเหลว นับว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีปรากฎการณ์เกษตรกรสวนยาง พร้อมใจกันออกมาขับไล่ผู้บริหาร เพราะทนไว้ไหวกันจริงๆ
“แกนนำเครือข่ายและเกษตรกรจากภาคอีสาน เหนือ กลาง ภาคใต้ ที่เดือดร้อนหนักโทรหากันตลอดเวลา เพราะถึงที่สุดกันแล้ว ตอนนี้ราคายางก้อนถ้วย 6 กก. 100 บาท ยางแผ่นดิบ 41 -42 บาท ซื้อข้าวแกงได้จานเดียว สมัยก่อน ยางวิกฤติที่สุดราคา 14 บาท ซื้อข้าวแกงได้ 3 จาน ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีดูราคาข้าวแกง บ่งบอกภาวะเศรษฐกิจได้ตรงที่สุดทุกยุคทุกสมัย ขออย่าไปเชื่อใครคุยโม้ว่าเศรษฐกิจดี อ้างมีมาตรการช่วยเกษตรกรได้ โดยมีวาระแฝงจากผู้หนุนหลัง มันจะไม่มีประโยชน์กับนายกฯเลย ถ้าจะกลับมาเป็นนายกฯอีกรอบ” นายอุทัย กล่าว
ปธ.สยยท. กล่าวว่า ราคายางแผ่นถ้าขายตลาดท้องถิ่น 30 กว่าบาท ตอนนี้แกนนำ มารอล่วงหน้าที่จ.สุราษฐ์ฯกันแล้ว จะประชุมวาระเดียว สำคัญที่สุดปัญหายางตกต่ำแก้ไขอย่างไร เพื่อขอมติการเคลื่อนไหว ส่วนช่วงบ่ายหาทางแก้ไขกับสมาคมต่างๆต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาร่วมกันหมด
ประธาน สยยท. กล่าวต่อว่า ชาวเกษตรกรสวนยาง ที่ออกมากดดันรัฐบาล ทุกคนไม่กลัวตาย แต่กลัวอดตายมากกว่า ไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ถ้าไปผูกคอก็ตาย หากมาตายตอนประท้วงเหมือนกัน ตอนนี้เดือนร้อนกันถึงที่สุด ก็ต้องเดินขบวน ซึ่งจะเป็นมติเครือข่ายที่ออกมากดดันรัฐบาล สำหรับในส่วนที่ กยท. อ้างว่า ประเทศต่างๆหันมาปลูกยางกันมากขึ้น ทำราคายางตก
“ผมยืนยันว่า กัมพูชา มียางประมาณแสนตันเท่านั้น ส่วนเวียดนาม ลาว เพื่มขึ้นก็ไม่มาก แต่ประเทศไทย ที่ผ่านมามีแต่ปริมาณผลผลิตยางลดลง 4.65 เปอร์เซ็นต์จำนวนยางลดลง 4-5 แสนตัน จากปีละ4 ล้านตัน ผมขอเชิญผู้ว่าฯ กยท.ไปร่วมประชุมด้วย จะได้รู้ว่า ใครเป็นเกษตรกร ตัวจริง ตัวปลอม ส่วนที่บอกว่าไม่รู้จักนายอุทัย ก็ขอให้มา เพราะผมจะแนะนำตัวในฐานะเคยทำงาน สกย. ตั้งแต่ปี 2504 ก่อนที่นายธีธัช จะเกิด” นายอุทัย กล่าว
ด้านนายสด วิปุลานุสาสน์ อดีต รอง ผอ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราว่า ชาวสวนยางต้องน้ำตาร่วง เพราะเรื่องมันวนไปมาเหมือนว่ายน้ำอยู่ในอ่าง โดยก่อนนี้ ตลาดยางทำกันสามหน่วยงาน องค์การสวนยาง (อสย.) เจ้าของเรื่อง และสกย. พร้อมกับ ศูนย์วิจัยยาง เป็นหน่วยหนุน ก็วุ่นวายพอดู เพราะมาจากสามสายบังคับบัญชา แต่เดี๋ยวนี้ ควบรวมเป็น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วแต่ยังวุ่นวายทำท่าจะหนักกว่าเก่า เวรกรรมมาตกอยู่ที่เจ้าของสวนยางดังเดิม โดยเฉพาะ กยท.มีการปิดตลาดบางแห่ง ซึ่งมันประหลาด
“ตลาดของรัฐ จะไปปิดได้อย่างไรต้องให้ไหลไปเหมือนสายน้ำไม่มีการกักกัน ทราบว่า มีการแอบโผล่ไปซื้อนำบางจุดในราคาสูงปรี๊ดกว่าราคาตลาดท้องถิ่น แล้วกระซิบให้พรรคพวกขนยางไปขาย ติดตามไปจึงได้กำไรงาม แต่ตลาดท้องถิ่นไม่บ้าจี้ขึ้นราคาตาม ดังนั้นแล้วใครได้ประโยชน์ ถ้าไม่ใช่พ่อค้าไอ้โม่งคนนั้น” นายสด กล่าว
อดีตรอง ผอ.สกย. กล่าวอีกว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต ยางที่ซื้อจากตลาดกลาง และจังหวัดต่างๆ อสย.จะรับผิดชอบนำไปรม อัดเป็นยางลูกขุนเก็บในโกดังข้ามปีผ่านหน้าฝนจนเกิดชื้น ขึ้นรา มาลงท้ายขายไม่ออก เพราะไม่มีแผนระบายที่ดี สุดท้ายขายให้บริษัทหนึ่งแบบวิธีพิเศษ ไม่เปิดประมูลบริษัทที่ได้ไป เหมือนพบขุมทองซื้อได้ในราคาขี้ยาง เมื่อนำมาขัดสีฉวีวรรณแล้วห่อหุ้มทำลูกขุนใหม่ส่งขายในราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กำไรมหาศาล
“ผ่านมาเกือบยี่สิบปีเรายังย่ำอยู่กับที่ กระนั้นหรือสงสารพี่น้องชาวสวนยางมาตรการจากรัฐไปตกอยู่ที่คนบางคน บางกลุ่ม ไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ต้องโทษผู้รับผิดชอบระดับบิ๊กๆ ถ้ายังคิดถึงประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้องประเทศชาติจะไปไม่รอด” รอง ผอ.สกย. กล่าว
มีรายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทเอกชนจีน ไม่มาขนยางกว่า 2 แสนตันที่ได้ประมูลจากสต็อกรัฐ โดยยางล็อตนี้ได้มีการประมูลและถูกบอกเลิกสัญญามาแล้ว 3 รอบในรัฐบาลนี้ ยิ่งทำให้ส่งผลราคาร่วงลงในปัจจุบัน โดยเอกชนจีนประมูลไว้ตั้งแต่ต้นปีในราคา 60-70 บาท ตามคุณภาพยาง แต่ราคายางกลับปรับตัวลงต่อเนื่อง
ล่าสุดได้ยกเลิกสัญญาให้ กยท. ยึดเงินประกัน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยางล็อตนี้มาจากโครงการแทรกแซงราคา 80-100 บาทต่อกฺโลกรัม ในสมัยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.เกษตรฯรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และโครงการมูลภัณฑ์กันชน ของรัฐบาลคสช. เข้าซื้อพยุงราคายาง 60 กว่าบาทต่อกฺโลกรัม
สำนักข่าววิหคนิวส์