กราบเรียนพี่น้องประชาชน
หลายท่านคงแปลกใจว่าทำไมผมจึงยังไม่หนีไปไหนหลังการยื่นอุทธรณ์คดีบ้านเอื้ออาทร ขอแจ้งกำหนดการให้ทราบว่าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผมจะแถลงปิดคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และจะไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มีนาคม 2565
คดีนี้เป็นคดีที่ 12 ที่ผมได้มาทั้งหมดหลังการรัฐประหารปี 2549 และการรัฐประหารปี 2557 ในขณะที่คดีอื่นๆ ยกฟ้องไปหมดแล้ว นี่คือคดีสุดท้ายที่มิได้มีความซับซ้อนอะไรแต่กลับใช้เวลากว่า 12 ปีในการพิจารณา หากท่านได้รับฟังพยานหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดด้วยความใส่ใจก็จะทราบว่าเพราะเหตุใดผมจึงไม่เคยคิดหนี และจะเป็นคนแรกที่ไปถึงศาลในวันนัดอ่านคำพิพากษา หลังจากที่ต้องอดทนต่อการถูกตัดสินโดยศาลเตี้ยในสังคมมายาวนานนับแต่วันแรกที่มีข่าวคดีนี้บนหน้าสื่อ
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ศาลกำหนดให้ส่งรายชื่อผู้ร่วมรับฟังการแถลงปิดคดีในห้องพิจารณาที่จำกัดที่นั่งล่วงหน้า ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารประเด็นสำคัญในคดีต่อพี่น้องประชาชนครับ
“ข้อเท็จจริงคดีบ้านเอื้ออาทร”
นายวัฒนา เมืองสุข (จำเลยที่ 1) ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจรัฐมนตรีโดยมิชอบออกประกาศรับซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นช่องทางเรียกรับประโยชน์จากผู้ประกอบการ ทำให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เสียหายต้องรับซื้อโครงการในราคาที่แพงขึ้น จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการและเรียกค่าตอบแทนการอนุมัติหน่วยก่อสร้างต่อหน้าที่ประชุมหน่วยละ 11,000 บาท ใครไม่ตกลงจะไม่อนุมัติหน่วยก่อสร้างให้เว้นแต่จะมีหน่วยเหลือจึงจะนำมาจัดสรรให้ในภายหลัง
ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จที่เกิดจากจินตภาพของประธานอนุกรรมการไต่สวนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่พยานได้ให้การในชั้นศาล โดยแบ่งรายละเอียดสำคัญออกเป็น 7 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เรื่องการออกประกาศรับซื้อโครงการ (ToR)
ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. สรุปว่าการออกประกาศดังกล่าวทำตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการ และเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. ทำให้ กคช. สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง เป็นประโยชน์ต่อ กคช. และประชาชนที่จองซื้อโครงการไว้ ไม่ได้ทำให้ กคช. เสียหายและเอกชนไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ToR ฉบับนี้ถูกร่างขึ้นภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตัดช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการทุจริตจากการพิจารณาด้วยดุลพินิจได้ เพราะเป็นการพิจารณารับซื้อด้วยคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้โดยวิธีเช็คลิสต์ ผู้ประกอบการทุกรายจึงเพียงมีคุณสมบัติและหลักประกันครบถ้วนมาแสดงต่อผู้ตรวจสอบเท่านั้น จึงเป็นประกาศที่ถูกใช้มาแม้ภายหลังที่มีการยึดอำนาจแล้ว
ประเด็นที่ 2 เรื่องการอนุมัติหน่วยก่อสร้าง
ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. สรุปว่าผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอมาในระยะเวลาของประกาศ หากมีคุณสมบัติ ทุนจดทะเบียน และหลักประกันถูกต้องจะได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างตามคำขอทุกรายโดยยังมีหน่วยเหลือไม่มีผู้ขออีกถึง 58,000 หน่วย เพราะโครงการบ้านเอื้ออาทรในยุคของจำเลยที่ 1 ได้มีการวางหลักเกณฑ์ของ ToR ในลักษณะที่ปิดโอกาสของการคอร์รัปชั่น และมีหน่วยก่อสร้างมากกว่าความต้องการผู้ประกอบการ จึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องวิ่งเต้นให้ได้งาน ซึ่งถ้าไปเทียบกับคดีการทุจริตในกรณีอื่นจะเห็นว่าส่วนใหญ่การวิ่งเต้นจะเกิดเพราะมีการแข่งขันแย่งงานของผู้ประกอบการหลายเจ้าซึ่งแย่งงานหรือแย่งโครงการกัน ต่างจากโครงการบ้านเอื้ออาทรในยุคของจำเลยที่ 1 ที่ไม่มีมูลเหตุจูงใจให้ต้องวิ่งเต้น
ประเด็นที่ 3 เรื่องการจ่ายเงินล่วงหน้าแก่ผู้ประกอบการตามสัญญา
ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. สรุปว่าเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามเงื่อนไขของสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาของ อสส. แล้ว เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กคช. มีหลักประกันถูกต้อง ไม่มีความเสียหายและไม่มีผู้ใดกระทำความผิด
ประเด็นที่ 4 เรื่องการดำเนินการตามประกาศของกรรมการและเจ้าหน้าที่ กคช.
ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. สรุปว่าผู้ว่าการ คณะกรรมการ คณะกรรมการกลั่นกรอง และเจ้าหน้าที่ กคช. ทุกคนไม่มีผู้ใดกระทำความผิดในการดำเนินการตามโครงการบ้านเอื้ออาทรให้ข้อกล่าวหาตกไป (ยกเว้นนายมานะ วงศ์พิพัฒน์ ซึ่งถูกชี้มูลแต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา)
ประเด็นที่ 5 เรื่องการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการต่อหน้าที่ประชุม
ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเท็จโดยสิ้นเชิง เนื่องจาก
((1) มีพยานเพียงคนเดียวที่กล่าวหาจากผู้เข้าประชุมเกือบ 50 คน ซึ่งต่อมาพยานปากนี้ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และได้ไปให้การใหม่ต่อหน้าผู้แทน อสส. และ ป.ป.ช. ฝ่ายละ 10 คน ว่าที่ให้การไปเพราะถูก คตส. สั่งให้พูดเพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องเป็นจำเลย
(2) การเรียกร้องค่าตอบแทนต่อหน้าที่ประชุมซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่ กคช. และเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. หลายสิบคน ไม่ใช่วิสัยของคนปกติที่จะกระทำ ส่วนผลการไต่สวนพยานคนอื่นๆ ที่เข้าประชุมยืนยันว่าไม่มีการเรียกร้องผลประโยชน์ตามข้อกล่าวหา
(3) การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเรื่องเงินล่วงหน้าที่ผู้ประกอบการที่ได้งานแล้วขอเบิกตามสัญญา ผู้ประกอบการทุกรายที่มาร่วมประชุมล้วนเป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นคู่สัญญากับ กคช. แล้ว จึงได้มีสิทธิขอเบิกเงินล่วงหน้าตามสัญญา ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่าเรียกเงินเพื่อแลกกับการอนุมัติหน่วยก่อสร้างจึงเป็นไปไม่ได้เพราะผู้ประกอบการทุกรายได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างและเป็นคู่สัญญาแล้ว (ตามรายงานของ ป.ป.ช. ผู้ประกอบการทุกรายได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างโดยไม่มีใครไปเรียกร้องค่าตอบแทนและยังมีหน่วยก่อสร้างที่ไม่มีผู้ขออีกถึง 58,000 หน่วย)
(4) ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาคดีนี้ที่สรุปว่าผู้ว่าการ กรรมการ และเจ้าหน้าที่ กคช. ทุกคนไม่มีผู้ใดกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ดังนั้น เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่กระทำทุกอย่างถูกต้อง จำเลยที่ 1 ที่เป็นรัฐมนตรีผู้กำกับนโยบายจึงจะกระทำผิดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไม่ได้ อีกทั้งการดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนจึงไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงิน
(5) ผลการตรวจสอบเส้นทางเงินของจำเลยอื่นที่ถูกกล่าวหาว่ามีการแอบอ้างอำนาจของจำเลยที่ 1 เพื่อเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนกับการได้รับอนุมัติให้เป็นคู่สัญญากับ กคช. นั้น พยานหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นธุรกรรมที่ใช้เพื่อธุรกิจ ค่านายหน้าซื้อขายที่ดิน และการดำเนินกิจการของบริษัทนั้นๆ เอง ไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับจำเลยที่ 1 หรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และตรวจสอบเส้นทางการเงินของจำเลยที่ 1 แล้วไม่พบธุรกรรมที่ผิดปกติ
ประเด็นที่ 6 เรื่องกระบวนการไต่สวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อข้อกล่าวหาเป็นเท็จเพราะเกิดจากจินตภาพของประธานอนุกรรมการไต่สวนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับจำเลยที่ 1 จึงเกิดกระบวนการไต่สวนที่ไม่ชอบและมีการกระทำที่ผิดกฎหมายเพื่อให้พยานปรักปรำจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามโครงเรื่องที่วางไว้ กล่าวคือ
(1) ใช้อำนาจคณะอนุกรรมการไต่สวนก่อนได้รับการแต่งตั้ง
(2) ใช้อำนาจตามอำเภอใจจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญผู้ประกอบการเพื่อให้ร่วมมือกล่าวหาจำเลยที่ 1 แลกกับการไม่ถูกฟ้องอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะในขณะทำการไต่สวนยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้กันผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดไว้เป็นพยาน
(3) กฎหมายห้ามอ้างพยานที่เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หรือโดยมิชอบประการอื่นเป็นพยานต่อศาล
(4) พยานหลายคนให้การยอมรับกลางศาลเองว่า คตส. ทำคำให้การขึ้นเองแล้วเรียกพยานมาลงนามเพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องโดยพยานไม่ทราบข้อเท็จจริง
(5) สำเนาเอกสารที่เป็นพยานโจทก์หลายฉบับที่ใช้ปรักปรำจำเลยที่ 1 ถูกทำขึ้นเองและไม่ตรงกับต้นฉบับ
ประเด็นที่ 7 เรื่องปัญหาข้อกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กคช. แต่ไม่มีอำนาจในตำแหน่งสามารถอนุมัติให้ผู้ประกอบการได้เป็นคู่สัญญากับ กคช. ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเป็นตัวการกระทำความผิดตาม ปอ. มาตรา 148 ตามที่ศาลพิพากษาได้ ส่วนผู้ที่มีอำนาจอนุมัติให้ผู้ประกอบการได้เป็นคู่สัญญากับ กคช. คือกรรมการซึ่งไม่มีผู้ใดกระทำความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะไม่มีตัวการกระทำความผิด
หมายเหตุ
(1) การต่อรองกับผู้ประกอบการเพื่อกันไว้เป็นพยาน คตส. ได้ยอมรับเองตามหนังสือของประธานอนุกรรมการไต่สวนฯ ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ความว่า “หากผู้รับเหมารายใดให้ความร่วมมือ ให้ปากคำไปตามความเป็นจริง คตส. ก็มีแนวทางจะไม่กล่าวหาผู้รับเหมานั้นในฐานให้สินบน” ก่อนที่จะทำคำให้การขึ้นเองแล้วเรียกผู้รับเหมามาเซ็น
(2) ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีฯ เพิ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2554 อันเป็นภายหลังจากการกันพยานคดีนี้โดย คตส. และ ป.ป.ช. จึงเป็นพยานที่เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ฯ ไม่ชอบด้วย ป. วิอาญา ที่ห้ามอ้างเป็นพยาน
3) การดำเนินโครงการตามประกาศฉบับใหม่ในสมัยจำเลยที่ 1 ไม่มีความเสียหาย ส่วนโครงการบ้านเอื้ออาทรที่อำเภอสุไหงโกลกที่มีการนำมาโจมตีทางโซเชียลมีเดียว่าเป็นโครงการร้างสร้างความเสียหายนั้น ตามข้อมูลของไทยพีบีเอสแจ้งว่าเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2550 ส่วนจำเลยที่ 1 พ้นจากตำแหน่งเพราะการยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2549 แล้ว (อ้างอิงข่าว Thai PBS วันที่ 1 สิงหาคม 2563)