เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กรรมาธิการสนช.ลงมติขยายเวลาการบังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ว่า ตนคิดว่าถ้าจะเลื่อนโรดแมปออกไปอีกก็ต้องล้มรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ถ้ากระบวนการมาถึง ณ ตรงนี้ก็คงยุติ 90 วัน ขณะเดียวกันยังคิดว่าพวกเขายังพอมีทางที่จะประวิงเวลาไม่ปล่อยให้พรรคเก่าดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่พรรคใหม่สามารถเริ่มทำการเมืองได้ในวันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป ส่วนพรรคเก่าจะขับเคลื่อนได้ ก็ต่อเมื่อ คสช.ยกเลิกคำสั่ง 57/2557 ให้ ซึ่งตนคิดว่าเป็นการดึงเวลาให้เลยออกไป เป็นเงื่อนไขที่เขาซ่อนอยู่
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรอบเวลาจะขยายออกไปอีกหรือไม่นั้น ตนคิดว่าต้องดูวาระ 3 ใน สนช.จะเป็นอย่างไร แต่ตนคิดว่าคงไม่เลื่อนออกไปอีกแล้ว ถ้าจะเลื่อนก็ต้องล้มรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่าคงไม่ทำ เพราะ ไม่คุ้ม ดังนั้นแสดงความกรอบเวลาแบบนี้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ขณะที่ความแน่นอนในคำพูดของผู้นำนั้น ตนคิดว่าเป็นที่ชัดเจนว่านานาชาติทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาออกมาท้วงติงว่าให้ไทยจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2561 ตามที่เคยได้ประกาศไว้ แต่ปัจจัยภายในจะเป็นตัวเร่งมากกว่านั้นคือปัญหาปากท้องของชาวบ้านซึ่งถ้ายังไม่มีความแน่นอนและเลื่อนออกไปอีกเรื่อยๆจะยิ่งทำให้ลดความน่าเชื่อถือของคสช. ลดลง และจะไม่เป็นผลบวกเลย
“ตราบใดก็ตามหากยังเลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ แบบไม่มีความชัดเจน ชื่อเสียงของรัฐบาล และคสช.ก็จะไม่ดี ซ้ำร้ายก็จะกระทบต่อการเลือกตั้งในที่สุด แม้ว่ารัฐบาลได้จัดมหสรสพดีๆ ไปแสดงขึ้นก็ตาม เพื่อหวังจะได้คะแนน ซึ่งมันก็ไม่แน่เสมอไป บางที่คนเขาไปดูมหรสพ เขาอาจจะไม่เลือกก็ได้” นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดการจัดมหรสพระหว่างการปราศรัยหาเสียงนั้น ก็เพื่อให้พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นพรรคที่มีเงินสูง สามารถจ้างเหมาการแสดง และศิลปินดังๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบเสียงเปรียบอย่างชัดเจน สุดท้ายจะเป็นกระบวนการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างแยบยลในที่สุด
เมื่อถามว่า แล้วการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการไทยนิยมขึ้นมาเป็นการหาเสียงให้คสช. หรือไม นายวิรัตน์ กล่าวว่า ถ้าอะไรที่ได้เปรียบเขาก็ทำ และคงทำออกมาเป็นระยะๆ แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรดีๆ และได้คะแนน ตนก็ไม่ติดใจ ทำได้ทำเลย ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามอีกว่า แต่ปัญหาจะอยู่ที่ผู้ร่างกติกา กับมาลงเล่นเอง นายวิรัตน์ กล่าวว่า “นั่นละสิ นี่เป็นปัญหาที่ผู้รักษากฎกติกา มาลงเล่นในกติกาที่ร่างเอง นี่แหละจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกอึดอัด”
นายวิรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ สนช.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระ 2 และ 3 โดยปรับลดจาก 20 กลุ่มวิชาชีพ ลดเหลือ 10 กลุ่มวิชาชีพ ว่า ตนคิดว่าฝ่ายนิติบัญญัติได้พยายามแล้ว และไม่ติดใจอะไรในประเด็นนี้เท่าใดนัก แต่อาจจะมีข้อโต้แย้งบ้างในสัดส่วนผู้หญิงไปจัดไปอยู่ในกลุ่มคนชรา ก็จะทำให้สัดส่วนผู้หญิงเข้ามาน้อยลง ซึ่งตนคิดว่าควรจะทำอย่างไรให้สัดส่วนผู้หญิงเข้ามาได้มากที่สุดมากกว่า เพื่อมาดูแลสิทธิสตรีในชั้นส.ว.
Cr:ประชาชาติธุกิจ
สำนักข่าววิหคนิวส์