รองนายกฯวิษณุ ยังไม่คุย “สุวพันธุ์” แก้บ้านพักตุลาการเชียงใหม่ ไม่รู้สึกกังวลปัญหานี้ เชื่อการชุมนุมอยู่บนพื้นฐานสุจริตใจ ไม่มีประเด็นการเมืองเกี่ยวข้อง ไม่รู้จะใช้ มาตรา 44 หรือไม่ ขณะที่ “สุวพันธ์ุ” เตรียมลงพื้นที่เชียงใหม่คุยเครือข่ายประชาชน 6พ.ค.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่แก้ปัญหาสร้างบ้านพักตุลาการรุกที่ป่าเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ว่า ส่วนตัวยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายสุวพันธุ์เป็นการส่วนตัว แต่ในทางกฎหมายยังไม่มีเรื่องที่ต้องหารือในขั้นตอนนี้ ยกเว้นแต่ไปตรวจพบว่าต้องมีปัญหาในเชิงกฎหมายก็อาจจะมาหารือในภายหลัง เบื้องต้นได้พบนายสุวพันธุ์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) จึงทราบว่านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลในเรื่องนี้ เพราะสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเคยดูแลในเรื่องเหล่านี้อยู่บ้าง ดังนั้นจึงมอบหมายให้ลงพื้นที่ไปดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นและไม่ได้ไปดูแลทั้งหมด แต่ไปฐานะส่วนกลาง เพราะในพื้นที่มีกองทัพภาค 3 ดูแลอยู่แล้ว รวมถึงด้านความมั่งคงด้วย ทั้งนี้ หลังจากลงพื้นที่ก็จะจิ๊กซอร์มาต่อกัน เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ส่วนการตัดสินใจขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ถูกต้องจากนั้นจึงเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป ยืนยันว่าส่วนตัวไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร และเชื่อว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่พื้นฐานของความสุจริตใจ จึงไม่ได้อะไรที่น่าเป็นห่วง และไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ยากนัก
แต่ในอนาคตอาจจะไม่แน่ ขณะนี้ยังไม่พบอะไรที่จะชักจูงหรือนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย เพราะขณะนี้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อยดี
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหา แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจทั้ง 3 ฝ่าย คือ ตุลาการ ซึ่งที่เป็นผู้ได้ผลกระทบ ประชาชน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ดูแลเรื่องป่าไม้ โดยต้องใช้ข้อมูลด้านวิชาการ และเชิงความต้องการ แต่ข้อตกลงเดิมที่มีมาในสมัยรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมากว่า 10 ปี เพื่อต้องการให้ศาลมีที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้น มีการอนุมัติตั้งแต่รัฐบาลนี้ยังไม่เข้ามา ซึ่งมีการผ่านมาอนุมัติตามขั้นตอนต่างๆจนกระทั่งมีการก่อสร้างในขณะนี้จึงขอให้เห็นใจศาลด้วย ดังนั้นการพูดจาให้กระทบกระเทือนศาลไม่ได้ และต้องปล่อยให้เป็นไปตามการดำเนินการของรัฐบาล
นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าต้องใช้คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มาตรา 44 ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ และมองว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น และคำสั่ง คสช. จะต้องใช้ในทางสร้างสรรค์ จึงไม่ต้องใช้การในทุบตึกและรื้อบ้าน หรือทำลายทรัพย์สินทางราชการ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ก่อน เพราะส่วนตัวไม่ได้รับมอบหายโดยตรง เป็นเพียงผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่พัฒนาภาคเหนือ และเพียงได้ส่งที่ปรึกษาไปดูเท่านั้น เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าไม่มีสัญญาณว่ามีความไม่สงบหรือการเมืองเข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใดไม่ว่าเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ส่วนการทำประชามตินั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ต้องเวทีและการตั้งประเด็นเพื่อเข้าคูหากาบัตร จึงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น แต่อาจทำประชาพิจารณ์ได้ เนื่องจากเป็นการทำในวงจำกัด ส่วนกรณีที่มีเปิดเพจไทยคู่ฟ้าในแสดงความเห็นก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการพิจารณาประกอบได้ และหากมีใครทำเพจเพิ่มขึ้นเพื่อแสดงความเห็นก็ไม่มีปัญหาเพราะถือว่าเป็นช่วยกันแก้ปัญหา
ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้แก้ปัญหาปมบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า วันที่ 6 พฤษภาคมนี้จะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หารือแนวทางปฏิบัติกับเครือข่ายภาคประชาชน 17 เครือข่าย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นคนประสาน และในการพูดคุยวันนั้นจะนำความเห็นที่เคยรับฟังจากประชาชนและโซเชียลมีเดียมาประกอบซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติโดยจะมีขั้นตอนเป็นระยะ 1- 2 -3 และตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำงานให้มีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ต้องรอการพูดคุยในวันที่ 6 พ.ค. นี้ก่อน โดยเรื่องนี้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่อยากแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด แม้ว่าความคิดเห็นจะไม่ตรงกัน แต่ถ้าทุกฝ่ายยึดหลักความจริง ความถูกต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็จะมีทางออก ส่วนข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายให้สร้างบ้านพักให้แล้วเสร็จ
และให้กันไว้เป็นเขตอุทยานแห่งชาตินั้น ถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่จะต้องดูข้อกฎหมาย โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย
ทั้งนี้ นายสุวพันธุ์ ระบุว่า จะพยายามใช้กฎหมายปกติ เพราะหากใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 อาจจะเห็นผลเร็ว แต่ก็อาจจะมีปัญหาตามมา ดังนั้นการใช้กฎหมายปกติเป็นเรื่องดีเพราะหากวันข้างหน้าเมื่อเกิดปัญหา ไม่มี มาตรา 44 จะทำอย่างไร
สำนักข่าววิหคนิวส์