“กบฏยังเติร์ก” หวังโค่นอำนาจ “พล.อ.เปรม” สุดท้ายล้มเหลว
**การกบฏครั้งนี้ ใช้ความพยายามรัฐประหาร และไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเลิกใช้ชื่อเรียกตัวเองว่า “กบฏ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ที่สำคัญคือ ไม่มีใครสามารถก่อการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กระทั่งอยู่ต่อจนหมดวาระ
หลายคนที่อ่านเชื่อว่าน่าจะเกิดทันในยุค “กบฏยังเติร์ก” หรือ “กบฏเมษาฮาวาย” ซึ่งกลุ่มกบฏดังกล่าว มีความพยายามที่จะทำการรัฐประหาร ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยกลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่น “ยังเติร์ก”
จปร.7 หรือ กลุ่มยังเติร์ก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7) เป็นกลุ่มนายทหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงในขณะนั้น และมีบทบาทสำคัญในการเมืองสมัยรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และได้สนับสนุนให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งในปี 2520 แต่ในปี 2523 กดดันให้เขาลาออก จนสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา หลังจากนั้นกลุ่มดังกล่าว มีความพยายามที่จะยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยกลุ่มผู้ก่อการนอกจากจะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่น “ยังเติร์ก” แลัว ในขณะนั้น ยังมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่างๆ อยู่ในกองทัพบกด้วย
การก่อกบฏครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย สมาชิกในกลุ่ม อาทิ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นต้น ฯลฯ
ที่มาของคำว่า “ยังเติร์ก”
มาจากชื่อของ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์กนายทหารหนุ่มผู้ปลดปล่อยประเทศและก่อตั้งประเทศตุรกี ดำเนินการปฏิรูปประเทศตุรกีให้เป็นประเทศสมัยใหม่ที่เน้นประชาธิปไตยและไม่อิงศาสนา สำหรับ “ยังเติร์ก” ไทยนั้น เริ่มก่อตัวทางความคิดจากนายทหารหลายรุ่นที่ร่วมรบในสงครามเวียดนาม สงครามลับที่ลาวและเขมร ประกอบกับในยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาสนั้น พันเอกณรงค์ กิตติขจร แกนนำ จปร. รุ่น 5 มีอำนาจและศักยภาพมาก ครั้นเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายทหารจากจปร. รุ่น 5 เริ่มอับแสง และนายทหารจากจปร. รุ่น 7 เริ่มฉายแสง โดยได้เข้าสู่ตำแหน่งระดับผู้บังคับกองพัน อันเป็นหน่วยกำลังระดับสำคัญในกองทัพ
“คณะกรรมการสภาปฏิวัติ” หวังโค่นล้ม พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
คณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการสภาปฏิวัติ” เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน จับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรี ชวลิต ยงใจยุทธ และ พลตรี วิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ ใจความว่า
“เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่าย และทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติ ซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน”
“กบฏยังเติร์ก” ทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง “เปิดเพลงปลุกใจ”ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตลอดเวลา ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น เต็มไปด้วย บังเกอร์ กระสอบทราย มีกำลังทหารอาวุธครบมือ พร้อมอัญเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเป็นสัญลักษณ์ด้วย
ทางฝ่ายรัฐบาล โดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
รัฐบาลตอบโต้กลับ ควบคุมเหตุการณ์ในระยะเวลา 55 ชม.
รัฐบาลพลเอกเปรม ส่งเครื่องบินเอฟ-5อี บินเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพล ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย มีทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน กบฏเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน ใช้ระยะเวลาระงับเหตุป่วน 55 ชั่วโมง ถือเป็นการก่อการกบฏที่ล้มเหลวที่สุด เพราะไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้
ผู้ก่อกบฏ แยกย้ายหลบหนีออกนอกประเทศ
ขณะที่แกนนำฝ่ายผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ พันเอกมนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศพม่า ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล ได้รับนิรโทษกรรม และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา ซึ่งต่อมาคณะนายทหารเหล่านี้นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพัก ในวันที่ 22 มิถุนายน ขณะที่พลเอกสัณห์ เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ
ภายหลังเหตุการณ์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เลื่อนยศ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน เป็น พล.ท. เนื่องจากรู้สึกไว้วางใจ พร้อมให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา
***อนึ่ง การกบฏครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีบางข้อมูลระบุว่า ในเย็นก่อนเกิดเหตุการณ์เพียงวันเดียว ทางหนึ่งในฝ่ายผู้ก่อการได้เข้าพบพลเอกเปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วม โดยให้เป็นหัวหน้าคณะและ จะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เพื่อขจัดอิทธิพลของนักการเมือง แต่พลเอกเปรมไม่ตอบรับ
“กบฏสองพี่น้อง” สมาชิกยังเติร์กบางส่วน กลับมาก่อการกบฏอีกครั้ง
ผลลัพธ์ของการกบฏครั้งนี้คือ ผู้ก่อการกบฏล้มเหลว ต้องหลบหนีออกไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้นำการกบฏครั้งนี้คนหนึ่งคือ พันเอกมนูญกฤต รูปขจร ได้กลับมาก่อการซ้ำอีกรอบอีก 4 ปีต่อมา ในกบฏ 9 กันยา หรือ “กบฏสองพี่น้อง”
กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา 2528 หรือ กบฏสองพี่น้อง เป็นความพยายามรัฐประหาร เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอกมนูญกฤต รูปขจร (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร) นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วน ซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน
สมาชิกยังเติร์ก เมษาฮาวาย
ทั้งหมดได้ความสนับสนุนทางการเงินจาก “เอกยุทธ อัญชันบุตร” จุดประสงค์ พยายามยึดอำนาจการปกครองจาก รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วน พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
**การกบฏครั้งนี้ ใช้ความพยายามรัฐประหาร และไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเลิกใช้ชื่อเรียกตัวเองว่า “กบฏ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ที่สำคัญคือ ไม่มีใครสามารถก่อการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กระทั่งอยู่ต่อจนหมดวาระ
Cr.บิ๊กแดงแฟนเพจ
https://www.thairath.co.th/news/politic/1501676
สำนักข่าววิหคนิวส์