สกู๊ปข่าว » #วีระสุดทน ! ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ-ปชช.คดีบอส

#วีระสุดทน ! ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ-ปชช.คดีบอส

26 July 2020
493   0

  • จดหมายเปิดผนึกจากวีระ สมความคิด ถึงนายกรัฐมนตรี และประชาชนไทย

25 กรกฎาคม 2563

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและลงโทษกับผู้กระทำความผิดที่ช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่ให้ได้รับโทษตามกฏหมาย

เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

จากกรณีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ได้ขับรถยนต์เฟอร์รารี่ทะเบียน ญญ 1111 กรุงเทพมหานคร ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 แต่ไม่หยุดรถเป็นเหตุให้ลากร่างดาบวิเชียรไปประมาณ 200 เมตรจนร่างกายแหลกเหลวถึงแก่ความตายอย่างทรมาน

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน. ทองหล่อ ได้แจ้งข้อหานายวรยุทธรวม 4 ข้อหา คือ (1) ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (2) เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ (3) ขับรถในขณะมึนเมา และ (4) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยความผิดตาม (1)-(2) มีอายุความ 1 ปี ส่วนความผิดตาม (3) มีอายุความ 5 ปี ซึ่งขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2560 คงเหลือคดีประมาทเป็นเหตุให้คนตายซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 กันยายน 2570

คดีนี้ มีการวางแผนเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอย่างเป็นระบบมาโดยตลอด โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานให้ความร่วมมือ เริ่มจากตำรวจเชื่อผู้กระทำความผิดอย่างง่ายดาย โดยเขาอ้างว่าขณะขับรถไม่ได้เมาสุรา (ไม่เมาแล้วอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่รู้สึกว่าขับรถชนผู้ใดได้อย่างไร และที่ตำรวจตรวจพบแอลกอฮอล์ในตัวเขาเนื่องจาก เมื่อกลับมาถึงบ้านเขาได้เอาเหล้าของพ่อมาดื่มจนเมา คือเมาตอนเช้าหลังขับรถชนตำรวจตาย) นอกจากนี้มีการนำเอาตัวพ่อบ้านมาเป็นผู้ต้องหาแทน แต่ถูกจับได้และไม่มีใครเชื่อจึงโกหกประเด็นนี้ไม่สำเร็จ ส่วนพนักงานสอบสวนก็มีพฤติกรรมปล่อยปละละเลยปล่อยให้คดีตาม (1)-(3) ขาดอายุความ เพราะหากผู้ต้องหาไม่หนีออกนอกประเทศ เมื่อฟ้องคดีก็ต้องนำตัวส่งฟ้องต่อศาลได้ เมื่อคดีเข้าสู่ศาลก็ไม่มีเหตุที่จะได้รับความปราณีจากศาล เพราะคดีขับรถเร็ว ชนคนแล้วไม่หยุดช่วยเหลือ และเมาแล้วขับ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ศาลไม่สามารถรอการลงโทษได้ ต้องติดคุกสถานเดียว
จึงต้องทำให้ความผิดเหล่านี้ขาดอายุความ จะได้ไม่ถูกนำมารวมในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต

สำหรับคดีประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต นั้น เบื้องต้นอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ ซึ่งตำรวจจะต้องนำตัวนายวรยุทธมาส่งอัยการ เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลพร้อมคำฟ้องภายในอายุความ แต่เนื่องจากมีการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาสามารถหลบหนีไปต่างประเทศได้สำเร็จ จึงต้องทำเป็นเนียนเพื่อตบตาประชาชน โดยมีการออกหมายจับ และแจ้งตำรวจสากลให้ทราบ
แต่ที่ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยคือ ต่อมาอัยการสูงสุดมีการกลับคำสั่งของตัวเอง เป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เชื่อฟังอัยการดีมาก ไม่คัดค้านเลย จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุด (แต่ยังสามารถรื้อคดีขึ้นมาได้ หากมีพยานหลักฐานใหม่)

จุดเปลี่ยนสำคัญของคดีนี้อยู่ตรงนี้ คือ สาเหตุที่อัยการหยิบยกคดีที่มีหลักฐานสมบูรณ์พอฟ้องแล้วมาทบทวนใหม่ เนื่องจากมีผู้ร้อง(นายกฯต้องไปหาผลสอบของคณะกรรมาธิการกฏหมายฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาตรวจดู) ไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งมีพลเรือเอกดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ ต่อมาคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้สอบหาข้อเท็จจริงแล้ว สรุปความเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด จึงทำเรื่องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดซึ่งเคยปฏิเสธการ้องขอแบบนี้มาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้กลับยอมรับการร้องขอของกรรมาธิการฯคณะนี้ โดยอัยการสูงสุดรีบมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม จากนั้นพนักงานสอบสวนก็กลับคำสั่งเดิมจากสั่งฟ้องนายวรยุทธ เป็นสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และอัยการมีความเห็นตามตำรวจทันที จึงยกเลิกคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ เปลี่ยนมาเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธดังกล่าว

เมื่อไปตรวจสอบรายชื่อของคณะกรรมาธิการฯคณะดังกล่าวได้พบชื่อของน้องชายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึง 2 คนคือพลเรือเอกดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ นอกจากนี้ยัง มี ผบ.ตร. พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ประธาน ป.ป.ช. พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ และรองอัยการสูงสุดคนหนึ่ง ก็ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการฯคณะนี้ด้วย (คงมองเห็นภาพแล้วนะว่าพวกที่เชื่อว่ามีการร่วมมือกันช่วยเหลือนายวรยุทธได้มารวมอยู่ในคณะกรรมาธิการฯคณะนี้ พวกเขาจึงมั่นใจว่า หากมีการฟ้องร้องให้มีการตรวจสอบความผิดดังกล่าวในอนาคต พวกเขาก็มั่นใจว่าสามารถเอาอยู่ เพราะทั้งหมดเป็นสายตรงของผู้มีอำนาจรัฐใน คสช. ทั้งสิ้น)

วันที่ 22 เมษายน 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจรวม 11 คน แล้วส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ต่อมา 29 กรกฎาคม 2562 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลตำรวจที่มีพฤติกรรมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้คดีตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกขาดอายุความ ว่า “มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการและประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ” จึงส่งเรื่องมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการทางวินัย และวันที่ 31 มีนาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ลงโทษด้วยการกักยาม ภาคทัณฑ์ และยุติเรื่อง
ความจริงกรณีที่ตำรวจที่ปล่อยให้คดีขาดอายุความ ถือเป็นการกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นความผิดร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องผิดวินัยเล็กน้อย เป็นกาารปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย สมควรต้องถูกลงโทษตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งหมดนี้จึงทำให้เชื่อว่า ป.ป.ช. อาจจะช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิดดังกล่าว ให้ได้รับโทษในสถานเบา การกระทำดังกล่าวของ ป.ป.ช. ก็เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 เช่นกัน

ประธาน ป.ป.ช. ก็รู้กันดีว่าคืออดีตนายตำรวจที่เคยเป็นเลขานุการส่วนตัวของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายของพลเรือเอก ดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมาธิการฯ ที่ส่งเรื่องร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด จนอัยการสูงสุดต้องสั่งให้ตำรวจทำการสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และในที่สุดอัยการก็มีการกลับคำสั่งเดิม จากสั่งฟ้องเป็นคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้อง ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เป็นหน่วยงานเดียวกันกับที่จับกุม ตั้งข้อหา และสั่งฟ้องผู้ต้องหามาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อถูกสั่งให้สอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก็มากลับคำสั่งเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ที่สำคัญจากการสอบเพิ่มมีการระบุว่าดาบตำรวจที่ตายก็เป็นผู้กระทำความผิดด้วย เนื่องจากขับรถตัดหน้ารถของนายวรยุทธอย่างกระชั้นชิด (ตำรวจไปเอาข้อเท็จจริงนี้มาจากที่ใดทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการสรุปสำนวนสั่งฟ้องเอาไว้เช่นนี้) เมื่อตำรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มใหม่และมีความเห็นใหม่ว่านายวรยุทธไม่มีความผิดเช่นนี้ อัยการสูงสุดซึ่งเชื่อว่าตั้งท่ารออยู่แล้ว จึงรีบมีความเห็นตามตำรวจทันที ด้วยการกลับคำสั่งฟ้อง นายวรยุทธ เป็นคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา และตำรวจโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่คัดค้านแต่อย่างใดทั้งสิ้น (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธ) ทั้งหมดนี้จึงทำให้เชื่ออย่างสนิทใจว่า น่าจะมีการวางแผนล่หน้าอย่างเป็นระบบ หรือรู้เห็นเป็นใจกันมาก่อน นับตั้งแต่มีการวางแผนให้มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้าไปยังกรรมาธิการกฏหมายฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีน้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรงไปตรงมา จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเรียกผลสอบของคณะกรรมาธิการกฏหมายฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรงไปตรงมา หรือไม่ อย่างไร และต้องนำมาผลการตรวจสอบดังกล่าวมาเปิดเผยให้ประขาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง ตรงไปตรงมา มิฉะนั้น ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่รู้เห็นเป็นใจกับกรณีดังกล่าวนี้

หากนายกรัฐมนตรีไม่รีบดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้ภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ประชาชนก็จำเป็นต้องออกมาขับไล่นายกรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อเป็นการหยุดยั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือโดยทุจริตของผู้มีอำนาจรัฐในรัฐบาลบางคน ที่กำลังสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้

นาย วีระ สมความคิด
เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน

25 กรกฎาคม 2563