แชร์ว่อน! แฉเอกสารงบสู้คดี #เหมืองทองอัครา ควักงบภาษีปี 64 มากกว่าร้อยล้านบาท
(27 ส.ค.64) มีการเผยแพร่เอกสารงบประมาณปี 2564 โดยเป็นรายละเอียดระบุถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาท ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกต จากประเทศออสเตรเลีย ในกรณีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งปิดเหมืองทองอัครา เมื่อปี 2559 เหตุการณ์ที่อาจทำให้ไทยอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านบาท
โดยเวลานี้ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งมีการตรวจสอบงบประมาณย้อนหลังกลับไปในปี 2562 และ 2561 ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้งบประมาณเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัทคิงส์เกตไปแล้ว 217 ล้านบาทและ 60 ล้านบาทตามลำดับ
โดยหากรวมงบประมาณในปี 64 ตามเอกสารที่มีการเปิดเผยออกมาล่าสุด รัฐบาลจะใช้งบประมาณในการระงับข้อพิพาทในครั้งนี้อย่างน้อย 388 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าเสียหายในกรณีที่อาจแพ้คดีอีกถึง 3 หมื่นล้านบาท
ข้อพิพาทเหมืองทองอัครา เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 สั่งระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวโดยต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป
ส่งผลให้ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด” บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ชนะประมูล ที่ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองชาตรีใต้ (บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร , พิษณุโลกและเพชรบูรณ์) รวม 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปีที่จะสิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย.63
และได้ขยายพื้นที่ทำเหมืองที่ได้สิทธิสัมปทานเพิ่มเติมใน จ.พิจิตรเหมืองชาตรีเหลืออีก 9 แปลง พื้นที่ 2,466 ไร่ระยะเวลา 20 ปีซึ่งจะครบในวันที่ 20 ก.พ.2571 ที่มีบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกในประเทศไทย ที่ดำเนินการขุดเหมือง ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด บริษัทคิงส์เกตฯ เจ้าของสัมปทาน จึงได้นำเรื่องสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามข้อบังคับ UNCITRAL Arbitration Rules
โดยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลียหรือที่เรียกกันว่า TAFTA เพื่อให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดเหมืองเป็นจำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาทหลังจากเจรจากับรัฐบาลไทยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ เคยมีข่าวระบุไว้เมื่อปี 2562 ว่าจะรับผิดชอบกับกรณีดังกล่าวด้วยตัวเอง
ข่าวเวิร์คพอยท์ 23