นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่าเช้าวันที่ 26 ก.ค.65นี้ สมาคมฯได้เดินทางมายัง ป.ป.ช. เพื่อนำคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ไปให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบการดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดและหรือลงโทษผู้ว่า รฟม.และคณะกรรมการตาม ม.36 ตามพรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ฐานทุจริตต่อหน้าที่หลังใช้อำนาจยกเลิกทีโออาร์(TOR)และการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม
ทั้งนี้สืบเนื่องจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เคยยื่นเรื่องร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) พิจารณารับกรณีกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่งพรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการยกเลิก TOR และยกเลิกการประกวดราคา หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเป็นความผิดตามพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 ต่อมา DSI ได้ส่งสำนวนการไต่สวนสอบสวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อตามอำนาจหน้าที่
ดังนั้นเมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.65 ที่ผ่านมา โดยพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 ตามรายงานการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564 ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการตาม ม.36 มีมติ และตั้งแต่วันที่ รฟม. มีประกาศดังกล่าว
คำพิพากษาดังกล่าว เป็นการยืนยันตามคำร้องของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เคยร้องเรียนต่อ DSI และส่งคำร้องมายัง ป.ป.ช.ว่าคณะกรรมการตาม ม.36 และ รฟม.ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนดังที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงเห็นว่า การยกเลิก TOR และการยกเลิกการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงดังกล่าว เป็นการยืนยันว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับคำร้องของสมาคมฯที่ยื่นไว้ต่อ DSI จึงได้นำคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบในการไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวในขั้นสูงสุด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด