เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 กันยายน 65 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นักกิจกรรมและนักศึกษา รวม 7 คนร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ช่วงระหว่างวันที่ 15 – 22 ต.ค. 2563
ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงดังกล่าวเป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสาเหตุในการประกาศเพียงพอ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสลายการชุมนุม ประกาศปิดสถานที่และระบบขนส่งมวลชน จับกุมประชาชน สื่อมวลชน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงห้ามการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน
คดีนี้กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการฟ้องร้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 โดยขอให้ศาลแพ่งสั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และประกาศที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมชดเชยค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดคน คนละ 500,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 3.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันฟ้อง
โดยนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ มี น.ส.ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทนายมารับฟังการอ่านคำพิพากษา
น.ส.ศุกรียา ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าไปรับฟังคำพิพากษา ระบุว่า เวลาผ่านมานาน 2 ปีแล้ว ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า แม้ตอนนี้กำลังจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ตาม แต่เวลาที่ผ่านมาความเสียหายมันเกิดขึ้นไปแล้ว รวมไปถึงยังไม่มีใครได้รับการชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น มีคนติดคุกทั้งจากคดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตราอื่น ๆ จึงอยากให้สังคมสนใจและให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้
ส่วนกรณีศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ นางสาวศุกรียาระบุว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะคดี พ.ร.บ.ชุมนุม ก็เพิ่งจะแพ้มา แต่ก็หวังลึก ๆ ว่าศาลแพ่งอาจจะไม่เหมือนที่อื่น ส่วนการที่ศาลยกฟ้องนั้น เราก็ไม่ได้แปลกใจเท่าไหร่ แค่ผิดหวังมากกว่า
ภายหลังจากศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาเเละมีคำพิพากษายกฟ้อง “น.ส.ศุกรียา” ระบุว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง จากการกระทำทั้งหมดจำเลยที่เราฟ้องไป ศาลเห็นว่าเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ รวมไปถึงการสลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 63 ไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และสมเหตุสมผล ส่วนการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันก็เป็นพื้นที่ของบุคคลสำคัญ จึงต้องรักษาความปลอดภัย