ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องคดี ปตท.ฟ้อง “ม.ล.กรกสิวัฒน์” ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน กรณีกล่าวทางการ”เอเอสทีวี”ระบุ ปตท.ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เกิดความไม่ชอบธรรมด้านพลังงาน ชี้จำเลยให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนว่าจำเลยมุ่งร้ายต่อโจทก์
mgr online – รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1052/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 12173/2560 ความแพ่ง ระหว่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โจทก์ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี จำเลย ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท
คดีนี้ ปตท.ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่งที่พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 โดยคำฟ้องระบุว่า ม.ล.กรกสิวัฒน์ ในฐานะอดีตอนุกรรมาธิการสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ได้กล่าวในรายการคนเคาะข่าว ทางเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 ประเด็นปิดตาไทยขึ้นราคาก๊าซและน้ำมัน โดยกล่าวข้อความและไขข่าวให้บุคคลทั่วไปหรือบุคคลอื่นที่ได้รับชมรายการดังกล่าวรู้สึกและเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำให้ก๊าซขาดแคลนจนไม่พอใช้จนต้องนำเข้า โจทก์เป็นผู้ผูกขาดท่อก๊าซและผูกขาดการสร้างโรงแยกก๊าซ โจทก์ไม่สร้างโรงแยกก๊าซให้เพียงพอ โจทก์จะสร้างโรงแยกก๊าซก็ต่อเมื่อมีการขึ้นราคาก๊าซ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และโจทก์เป็นผู้แยกหน่วยรับเงินโดยใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือให้เป็นตัวรับเงินให้กับโจทก์ ดำเนินทุจริตในลักษณะใช้อุบายไม่สุจริต ทำเป็นว่ากองทุนน้ำมันไม่ใช่ของโจทก์ แต่สุดท้ายกองทุนน้ำมันไหลไปที่โจทก์ทั้งหมด
วันที่ 29 สิงหาคม 2556 จำเลยกล่าวในรายการคนเคาะข่าว ทางเอเอสทีวี ประเด็นความไม่ชอบธรรมด้านพลังงาน มีเจตนาให้บุคคลอื่นรู้สึกและเข้าใจว่า โจทก์ทุจริตมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับข้าราชการระดับสูงของรัฐ โดยให้โจทก์ได้รับสิทธิในการใช้ก๊าซก่อนผู้อื่น หรือภาคอุตสาหกรรมอื่น ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โจทก์ไม่สร้างโรงแยกก๊าซให้เพียงพอ โจทก์ไม่ยอมสร้างโรงแยกก๊าซ เพื่อให้ก๊าซขาดแคลน เพื่อขึ้นราคาก๊าซ โจทก์ทำให้กองทุนน้ำมันวิบัติและหาประโยชน์จากกองทุนน้ำมัน
วันที่ 9 กันยายน 2556 จำเลยกล่าวในรายการหม่อมกรกสิวัฒน์ ชี้แจงการชุมนุมและจุดประสงค์การชุมนุม ทางเอเอสทีวี และกล่าวในรายการวิทยุ เอฟเอ็ม 101 เมกะเฮิรตซ์ ในวันเดียวกัน เพื่อให้บุคคลอื่นรู้สึกและเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องก๊าซหุงต้มและน้ำมันราคาแพงเกิดจากโจทก์เป็นตัวการที่ซื้อก๊าซในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้กองทุนน้ำมันเสียหายจนต้องมาเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล
วันที่ 21 กันยายน 2556 จำเลยกล่าวในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เพื่อให้บุคคลอื่นรู้สึกและเข้าใจว่า โจทก์มีผลประโยชน์ที่มิชอบกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนโจทก์ฉ้อฉลพลังงานของประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและเสียหาย
ในคำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงต่อบุคคลที่สามโดยผิดกฎหมาย มีลักษณะเป็นการกระทำต่อเนื่อง เป็นการสร้างให้บุคคลทั่วไปเกลียดชังโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือในทางเจริญของโจทก์ จึงเป็นการหมิ่นประมาทและละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยจึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์เป็นบริษัทมหาชน ดำเนินงานตามนโยบายรัฐและถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด แต่กลับต้องได้รับความเสียหายจากการกล่าวถ้อยคำ หรือไขข่าวอันเป็นเท็จของจำเลย จนทำให้โจทก์ขาดความน่าเชื่อถือจากรัฐบาล หรือประชาชนทั่วไป ตลอดจนนานาประเทศ โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยจนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 50,000,000 บาท (ห้าสิบล้านบาท) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ท้ายคำฟ้องนอกจากขอให้ศาลสั่งให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา และห้ามจำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้องตามคำฟ้องของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยพูดกับสื่อมวลชนและสาธารณชนหลายครั้งเกี่ยวกับโจทก์ แต่จำเลยขอปฏิเสธว่า จำเลยไม่เคยพูดว่าโจทก์ทุจริตหรือฉ้อฉลประชาชนหรือุตสาหกรรมอื่น โจทก์ไม่สุจริตเงินกองทุนน้ำมัน โจทก์ทุจริตมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มิชอบต่อข้าราชการระดับสูงแต่อย่างใด สิ่งที่จำเลยพูดต่อสื่อสารมวลชนเป็นการท้วงติงรัฐบาลในการกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน และสิ่งที่จำเลยพูดเป็นความจริง จำเลยมิได้กล่าวหรือไขข่าวด้วยถ้อยคำเกินกว่าความจริงตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 ต่อมาโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 โดยคำพิพากษาบางตอนระบุว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ได้อ้างในอุทธรณ์ทำนองว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในลักษณะของการหยิบยกเอาข้อมูลในเอกสารที่ต่างกันและช่วงเวลาที่ต่างกันมาพูดเชื่อมโยงผูกเรื่องราวให้เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลย เอกสารหรือแหล่งข้อมูลที่จำเลยนำมากล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลและส่วนที่เป็นความเห็น และเป็นการกล่าวถึงข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจไปตามที่จำเลยประสงค์ เมื่อพิจารณาถึงการกล่าวของจำเลยแล้วล้วนบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาให้ร้ายโจทก์ โดยโจทก์ได้หยิบยกข้อความต่างๆ ในแต่ละตอนประกอบ เห็นว่า การพิจารณาในแต่ละเรื่องแต่ละกรณีที่จำเลยนำมากล่าวและโจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์นั้นต้องพิจารณาจากภาพรวมของเรื่องราวข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีว่ามีข้อความจริงเป็นอย่างไร มีแหล่งที่มาหรือไม่ ไม่ใช่พิจารณาแยกแยะแยกแยะเฉพาะข้อความคำพูดบางจุดบางตอนแล้วตั้งเป็นหลักหรือสาระสำคัญของเรื่อง หากเป็นกรณีการกล่าวโดยมีข้อมูลหรือเอกสารที่มาและกล่าวโดยสุจริต ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง
ส่วนการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร การใช้เสียงหนักเบาเป็นส่วนประกอบหรือเป็นลักษณะของการนำเสนอในรายการที่จำเลยกล่าวเท่านั้น ซึ่งศาลขั้นต้นก็ได้วินิจฉัยแยกแยะในข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องที่จำเลยกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร มาจากเอกสารหรืแหล่งข้อมูลใด ซึ่งรวมทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยมิได้กล่าวเกินไปกว่าข้อเท็จจริงตามเอกสารและข้อมูลที่มีทั้งในส่วนของการไม่สร้างโรงแยกก๊าซ เรื่องกองทุนน้ำมัน การได้สิทธิประโยชน์ การผูกขาด การกล่าวถึงกลุ่มปิโตรเคมีซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งโจทก์แยกแยะกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดเจนว่าจำเลยมุ่งหมายให้ร้ายโจทก์อย่างใด เช่น สาเหตุหรือมูลเหตุจูงใจในการกระทำของจำเลย ประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับหรือผลที่จำเลยมุ่งหวังให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เป็นประโยชน์ส่วนตน
แม้การกล่าวในกรณีต่างๆ ดังกล่าวอาจมีการพาดพิงถึงโจทก์บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตของการเสนอข้อมูล ทั้งรูปแบบการเสนอข้อมูล ก็เป็นการนำเสนอในลักษณะของการออกรายการทางโทรทัศน์และทางวิทยุกระจายเสียง มีการพูดคุยกับพิธีกรรายการหรือการให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่เป็นการกล่าวนำเสนอโดยจำเลยฝ่ายเดียวที่จะกล่าวให้ร้ายโจทก์ก็ได้อย่างอิสระ หรือมีโอกาสที่จะยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้แก่ผู้ชมและผู้ฟังรายการได้โดยง่ายแต่ประการใด กรณีเป็นกล่าวในเชิงให้ข้อมูล นำเสนอข้อเท็จจริงตามที่มีอยู่พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละมิดโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้น ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
สำนักข่าววิหคนิวส์