เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ตนมักจะเตือนเรื่อง “4 เสี่ยง” ที่เจอพร้อมกันเมื่อไรจะต้องระวังให้มาก คือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมมาระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้นแล้ว ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือ “สงกรานต์” ซึ่งปีที่แล้วหลังเทศกาลสงกรานต์พบว่า หลายอย่างไปในทางแย่ลง แต่ปีนี้จุดต่างคือ “วัคซีน” รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนที่ความรุนแรงลดลง และอีกจุดเปลี่ยนคือการพยายามผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่เราเดินมาระยะหนึ่ง ผ่านจุดทดสอบเมื่อช่วงปีใหม่ จะเห็นว่าตัวเลขเราเกือบจะไม่ขึ้น ถือว่าร่วมมือกันทำได้ดี ต่อมาหลังตรุษจีน ตัวเลขเริ่มขึ้น
“เชื่อว่าหลายท่านที่ไม่ได้เดินทางใน 2 ปีที่ผ่านมา สงกรานต์ปีนี้คงอยากกลับไป จะเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัดเยอะ สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ ตัวเลขติดเชื้อต่อวัน เพราะโอมิครอนติดเชื้อง่าย ขณะที่คนติดไม่มีอาการ ดังนั้น การเดินทางไปหาครอบครัว ต้องคิดว่าเราอาจนำเชื้อไปแพร่ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิต ข้อมูล 3 สัปดาห์ของ มี.ค. พบว่า 50-60% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน อีก 30% ฉีด 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ส่วน 5-10% คือฉีดเข็มเดียว ฉะนั้น เมื่อรวมกันกว่า 90% คือคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอ ต้องดูจุดแก้ตรงนี้ ต่อมาคือ 80-90% ของผู้เสียชีวิตคือ กลุ่มเสี่ยง 608 ดังนั้น ถ้าอยากให้สงกรานต์เต็มไปด้วยความสุขต่อเนื่องไปจนหลังสงกรานต์ ช่วงนี้จึงสำคัญในการเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีน คนที่รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือนแล้ว ให้รีบมารับเข็มกระตุ้น
“ตัวเลขผู้สูงอายุที่ยังไม่มารับวัคซีนเลยมีราว 2.2 ล้านคน ซึ่งจะเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้โอมิครอนไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ฉีดวัคซีนก็จะกลายเป็นความเสี่ยง ฉะนั้น กลุ่ม 608 ต้องมารับวัคซีนไปจนถึงเข็มกระตุ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า สงกรานต์ปีนี้ ผู้ที่จะกลับบ้าน เดินทางไปท่องเที่ยว ขอให้ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง สวมหน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็น ขอให้นึกว่าเป็นการสวมเสื้อผ้า เพราะมีประโยชน์ชัดเจน ทั่วโลกใส่หน้ากากกันจนหวัดธรรมดาและโรคอื่นน้อยลง หมั่นล้างมือเพราะเป็นสุขอนามัยที่จำเป็นเพื่อลดการติดเชื้อ