มีเรื่องของเพลงๆหนึ่งที่ระดับความสำคัญ เป็นเพลงที่คนไทยทุกคนต้องร้องได้…ต้นกำเนิดเพลง เริ่มขึ้นเมื่อปี 2507
ชรินทร์ นันทนาคร เล่าว่า ไปเชียงใหม่ ดูสถานที่ถ่ายหนังที่บ้านป๋าแป๋ เห็นแม้วเป๊อะของเต็มกระบุง เดินขึ้นดอย ขอบกระบุงมีธง ภ.ป.ร.ผืนน้อยเสียบอยู่ ถามได้ความว่าซื้อมา 8 บาทจากร้านในเมือง
ตั้งใจจะเอาติดบูชาประตูบ้าน ในวันสำคัญเจ้าพ่อหลวง
มองตามธงผืนน้อย ไกลออกไป ระหว่างหุบเขา นึกถึงชื่อ “สดุดีมหาราชา” เก็บความคิดว่าจะเอาไปทำอะไร มีโอกาสก็กราบเรียนถาม พระยาศรีวิศาลวาจา จะแต่งเพลงรักเพลงบูชาพระเจ้าอยู่หัวพระราชินี ด้วยถ้อยคำแบบชาวบ้าน ควร-ไม่ควร
“เป็นความคิดที่ดี รีบไปทำได้เลย” คุณชรินทร์ไปหาคุณสุรัฐ พุกกะเวส สองวันได้เนื้อเพลงมา เนื้อหาเป็นราชาศัพท์ยืดยาว
ไม่ตรงใจ แต่ก็ถือว่า ได้เริ่มต้น
วันต่อมา แค่บอกชื่อสดุดีมหาราชา ชาลี อินทรวิจิตร ใบหน้าแดงระเรื่อ ลึกเข้าไปในแววตา มองเห็นเทียนเล่มน้อยจุดประกายแวววาว รุ่งขึ้นก็ชวนกันหาน้าหมาน (สมาน กาญจนผลิน) ที่บ้านข้างวัดเทพธิดา
ขอเวลาล้างหน้า น้าหมานก็พร้อมเริ่มงาน…“เนื้อร้องต้องมาก่อน” ชรินทร์บอก “เอาง่ายๆแบบชาวบ้าน แต่ประทับใจ” “นั่นแหละยาก” ชาลีว่า นั่งนิ่งกันครู่ใหญ่ ชาลีถาม “ถ้าเผอิญในหลวงมาในซอยนี้ แล้วเราเจอพระองค์ท่าน เราจะทำยังไง”
“เราก็นั่งคุกเข่า พนมมือ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า แล้วเรามีอะไร ก็กราบบังคมทูล…” ชาลีรีบเขียนในกระดาษ “ขอเดชะ องค์ พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญ ปวงชน ประชาชาติไทย…”
เหมือนลมเย็นพัดมาวูบหนึ่ง พาความวิตกกังวลที่สุมในหัวใจมาแสนนาน หายไปในพริบตา ชรินทร์ ดึงเนื้อเพลงบรรทัดนั้นส่งให้น้าหมาน พรมนิ้วลงบนคีย์เปียโน ไล่เสียงไม่นาน แล้วทำนองเพลงก็หลั่งไหลออกมา
ได้บรรทัดแรก ถือว่าฟ้าดินเป็นใจ ชรินทร์ ชาลี สมาน ก็หายเกร็ง แต่งต่อไปจนจบ ท่อนสดุดีมหาราชินี
ชาลีเขียน “อ่าองค์ พระสยม บรมราชันย์ขวัญหล้า” อ่านให้ฟัง ทำนองแปร่งแปลกออกไป ชรินทร์นิ่ง ชาลีอ่านสีหน้าออก “กูตามใจมึงมา 8 บรรทัดแล้ว จะแต่งตามใจกูสักบรรทัด ไม่ได้เชียวหรือวะ”
ชรินทร์ขอฟังทำนองจากน้าหมาน…ไล่คีย์เปียโนแล้วว่า ทำนองขาดไปสองห้อง ต้องทำสะพานดนตรีลงมารับ กับคำร้องท่อนสุดท้าย อ่าองค์ พระสยม…แล้วน้าหมานก็ดีดให้ฟังต่อ…
อ่าองค์ พระสยม บรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญา สมสง่าบารมี ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้า ขออัญชุลี สดุดี มหาราชา สดุดี มหาราชินี
ชรินทร์เล่าต่อ เพลงสดุดีมหาราชาอยู่ในภาพยนตร์ ลมหนาว ที่เขาสร้าง ฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงปี 09 ตอนใกล้จบเรื่อง นักโทษการเมืองพระเอกของเรื่อง ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เดินออกจากคุก แล้วก้มกราบ
เพลงสดุดีมหาราชา กระหึ่มขึ้น พร้อมภาพธงชาติไทย ธง ภ.ป.ร.ประดับประดาตามบ้านเรือน
ผู้ชมต่างลุกขึ้นยืน ถวายความเคารพ จบเพลง คนเฝ้าประตูใหญ่ด้านข้างเฉลิมกรุง เปิดประตู คนดูเข้าใจว่าภาพยนตร์จบ ก็กรูกันเดินออก ไม่นานก็ได้เรื่อง
มีคนไปแจ้งความชรินทร์เอาเพลงอะไรก็ไม่รู้ มาเปิดแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี ตำรวจมาจับ โรงหนังฉายรอบแรก ไม่กล้าฉายต่อ
พักใหญ่ที่พึ่งของคุณชรินทร์ท่านก็มา ตำรวจตั้งแถวกันพรึ่บพรั่บทั่วโรงพัก และทุกอย่างก็จบลงด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจ ภาพยนตร์ก็ฉายได้ตามปกติ จากวันนั้นถึงวันนี้ เพลง “ สดุดีมหาราชา “ ได้กลายเป็นเพลงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว ถ้าสวรรค์มีจริงอัจฉริยชนคนธรรมดาและเป็นคนดีที่พร้อมอย่าง คุณสมาน กาญจนผลิน ท่านคงยิ้มอย่างเป็นสุขอบู่บนนั้น “
ปัจจุบันเพลงนี้มีการขับร้องเพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทั้งสองพระองค์อยู่เสมอ โดยถือเป็นธรรมเนียมทั่วไปว่าเพลงนี้ต้องขับร้องหลังการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และมีการจุดเทียนชัยถวายพระพร และรัฐบาลได้จัดเพลงนี้ให้เป็น 1 ใน 6 เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546
cr. กิเลน ประลองเชิง
กนกจอม เอกวงศ์กุล
สำนักข่าววิหคนิวส์