สนช.เสวนาทิศทางการพัฒนากรุงเทพใต้เพื่อนวัตกรรมและสร้างสรรค์ ขณะประธาน สนช. ย้ำจะนำทุกปัญหาไปแก้ไขให้กับประชาชน
Inn – สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน ณ กรุงเทพมหานคร (กลุ่มกรุงเทพใต้) โดยลงพื้นที่รับฟังปัญหาเรื่องการพัฒนากรุงเทพใต้เพื่อนวัตกรรมและสร้างสรรค์ โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนารับฟังปัญหาการพัฒนากรุงเทพใต้ เพื่อนวัตกรรมและสร้างสรรค์ ร่วมกับผู้อำนวยการเขต ผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ 10 เขต นักวิชาการ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งการลงพื้นที่และการเสวนาในครั้งนี้
โดย นายพรเพชร กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการรับฟังปัญหาต่างๆของชาว กทม.เพื่อนำทุกปัญหามาแก้ไขผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องยอมรับว่ากรุงเทพ เป็นเมืองใหญ่มีหลากหลายปัญหา ทางสนช.จึงจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มในการลงพื้นที่ การแลกเปลี่ยนความเห็นครั้ชนี้จะทำให้ สนช. ได้ความรู้ความเข้าใจ จึงอยากให้ประชาชนเสนอทุกปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานกลุ่มกรุงเทพใต้ กล่าวว่าเวที สนช.พบประชานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการลงพื้นที่ในการรับฟังความเห็น หลากหลายปัญหามีการสะท้อนมายัง สนช.ทั้งปัญหาการก่อสร้างถนน ปัญหาชุมชนแออัด รวมทั้งการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย รวมทั้งปัญหายาเสพติดไนแต่ละพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้เป็นการรับฟังและพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากรุงเทพใต้ เพื่อนวัตกรรมและสร้างสรรค์ ในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพใต้ วันนี้จากการลงพื้นที่ทาง สนช.มีประเด็นสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้กรุงเทพเป็นเมืองหน้าอยู่
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงการพัฒนากรุงเทพต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำและต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสำคัญคือสภาพแวดล้อมสาธารณะที่คนพิการต้องเข้าถึงได้เช่นเดียวกับคนปกติ ไม่เฉพาะคนพิการแต่รวมไปถึงผู้สูงอายุ เพราะวันนี้สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุผ่านนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ทำให้กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียว ปลอดภัย น่าอยู่
ขณะที่เวทีการเสวนาประชาชนมีการแสดงความคิดความเห็นอย่างหลากหลายโดย มีข้อเสนอทั้งเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พระโขนง ยกตัวอย่างเช่น ตำนานศาลแม่นาคพระโขนง บริเวณวัดมหาบุศย์ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ซึ่งวันนี้ต้องทำให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยต้องให้ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในพื้นที่ย่านคลองพระโขนง จึงอยากให้มีการฟื้นฟูคลองพระโขนง
สำนักข่าววิหคนิวส์