คณะอนุกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภา ได้กำหนดว่ายุทธศาสตร์สำคัญในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสามจังหวัดใช้แดนพักใต้กับคนในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทยประการหนึ่งคือยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว และหนึ่งในมาตรการสำคัญในการ เพิ่มรายได้ เพิ่มการมีงานทำและเพิ่มอาชีพให้แก่พี่น้องในสามจังหวัดภาคใต้ คือการเปิดสนามบินเบตง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะอนุ กรรมาธิการจึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อหารือเรื่องสนามบินเบตงที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2564 โดยมี นายถวิล เปลี่ยนสี ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
คณะอนุกรรมาธิการได้เรียนเชิญผู้แทน ศอ.บต. สำนักงานการบินพลเรือน กรมท่าอากาศยาน สำนักงานจังหวัดยะลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมด้วย
ประธานในที่ประชุมได้ให้นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผอ.กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต รายงานชี้แจง แผนงาน ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาสนามบินเบตง จังหวัดยะลา ที่ทำให้การเปิดใช้สนามบินล่าช้า ต่อที่ประชุมสรุปได้ว่า
1. สนามบินเบตงดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559 แล้วเสร็จในปี 2562 ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เสร็จสิ้นในปี 2563
สำนักงานการบินพลเรือนดำเนินการติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกเขตปลอดภัยในพื้นที่สนามบินเบตงเรียบร้อยแล้ว และเมื่อได้รับอนุมัติให้เปิดใช้สนามบินเบตงจากคณะรัฐมนตรีตามองค์ประกอบเงื่อนไข ก็จะสามารถให้หนังสือรับรองความปลอดภัยสนามบินได้ทันที
2. ปัญหาไม่มีสายการบินประสงค์จะเปิดเส้นทางการบินสนามบินเบตง เนื่องจากการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสายการบินนกแอร์เพียงสายการบินเดียวเท่านั้นที่เปิดเจรจา เพื่อเปิดใช้สิทธิ์ อย่างเป็นทางการสนามบินเบตงภายใต้เงื่อนไขดังนี้คือ
2.1 สายการบินนกแอร์ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอื่นที่จำเป็นต่างๆ ที่สายการบินต้องชำระทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระต้นทุนให้กับสายการบิน เช่น ยกเว้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ยกเว้นค่าธรรมเนียมสนามบิน และยกเว้นค่าทำเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
‘ศอ.บต.ในฐานะเจ้าภาพหน่วยงานหลักในการประสานงานและเจรจา ชี้แจงว่าสามารถลดค่าภาษีหรือค่าทำเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่สายการบินนกแอร์ร้องขอได้เพียง 50 % แต่ยกเว้นทั้งหมดตามที่นกแอร์ร้องขอเลยไม่ได้
2.2 เรื่องขอให้ภาครัฐรับประกันผู้โดยสาร จำนวน 75% สำหรับเครื่องบิน 65 ที่นั่ง และรับประกันจำนวนผู้โดยสาร 50% สำหรับเครื่องบิน 52 ที่นั่ง เป็นเวลา 5 เดือนนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเบตง ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ‘ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเบตงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ ชาวไทยในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย จะเห็นได้ว่าในทุกเทศกาลการท่องเที่ยวโรงแรมที่พักหลักในพื้นที่อำเภอเบตงมีการสำรองที่พักเต็มแทบทั้งหมด ประกอบกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตงมีโครงการและเครือข่ายที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเบตงได้เมื่อมีการเปิดเมืองเบตง ทั้งจากประเทศจีน ประเทศมาเลเซียและนักท่องเที่ยวชาวไทยในกรุงเทพและพื้นที่อื่นๆ เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเบตงได้
ประกอบกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากพอและคุ้มค่าทางธุรกิจของสายการบินที่จะเข้ามาลงทุนเปิดเส้นทางการบินสนามบินเบตงได้’
พร้อมกันนี้ คณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นสรุปว่า
1. ควรผลักดันให้มีการเปิดเส้นทางการบินสนามบินเบตงให้เป็นไปตามที่ได้มีกำหนดไว้ เดิมคือวันที่ 1 มกราคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจ นักลงทุน นักท่องเที่ยวและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเพื่อเป็นการเปิดประตูสู่การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในอำเภอเบตงและจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ขอให้ ศอ.บต. หน่วยงานเจ้าภาพหลักเร่งประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สายการบิน ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อหาข้อยุติร่วมกันโดยไว เพื่อให้สามารถเปิดเส้นทางการบินได้ในวันที่ 1 มกราคม 2565
3. ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ และอำเภอเบตง เร่งประสานความร่วมมือจัดทำโครงการหรือ package เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว ในพื้นที่อำเภอเบตงและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสายการบินที่จะเปิดเส้นทางการบินสนามบินเบตงอีกทางหนึ่ง ประกอบกับเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดพื้นที่อำเภอเบตงและจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับการเปิดใช้สนามบินเบตง
4. เรื่องความยาวของรันเวย์สนามบินเบตงที่มีขนาดสั้นเกินไปในขณะนี้กล่าวคือมีความยาวเพียง 1800 เมตร ในทางทฤษฎีเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่น่าจะสามารถลงได้ แต่ค่อนข้างยาก หรือหากใช้ความพยายามที่จะลงจอดให้ได้ก็อาจจะเป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลให้ขยายรันเวย์ออกไปถึง 2,100 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 อย่างไรก็ดี ทาง ศอ.บต. เห็นว่าควรขยายรันเวย์ของสนามบินออกไปเป็น 2,500 เมตรเพื่อให้เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่เช่น แอร์บัส เอ 320 และโบอิ้ง 337 สามารถลงจอดได้
5. เรื่องคำขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการเปิดให้มีการใช้สนามบิน ได้อย่างเป็นทางการ สมควรที่ทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
6. หน่วยงานที่รับผิดชอบสนามบินเบตงสมควรที่จะมีการเจรจากับสายการบินต่างๆ ให้มาลงที่สนามบินเบตงให้มากขึ้น
สำหรับเรื่องนี้ทางคณะอนุกรรมมาธิการเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งรัดสั่งการเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้สามารถเปิดสนามบินเบตงได้โดยเร็ว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สายการบินต้องการ โดยหลักการแล้วรัฐบาลอาจยอมให้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ควรจะยาวนานเกินไป เพื่อเป็นการจูงใจให้นักธุรกิจมาลงทุนในระยะเริ่มแรก และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปก่อน ซึ่งทางคณะอนุกรรมมาธิการเห็นว่าในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีหรือหนึ่งปีเศษๆ น่าจะมีนักท่องเที่ยวลงที่สนามบินเบตงได้เป็นจำนวนมากและเป็นการเพียงพอที่จะสิ้นสุดสิทธิพิเศษต่างๆ ของสายการบินด้วย
คณะอนุกรรมมาธิการได้สรุปเป็นข้อยุติว่าจะทำหนังสือรายงานให้แก่ท่านรองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงคือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายกรัฐมนตรีให้รับทราบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดสนามบินเบตงโดยเร็ว