“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เปิดแผนกลยุทธ์พาเศรษฐกิจพ้นวิกฤตโควิด ผงาดเป็นเบอร์หนึ่ง CLMVT
“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “โพสต์ทูเดย์” ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของเศรษฐกิจไทย จากพิษโควิด-19 โดยฉายภาพยุทธศาสตร์กลยุทธ์ การพยุงและเตรียมพร้อมเศรษฐกิจให้พ้นจากโควิดเพื่อกลับมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจของภูมิภาค
สมคิด เล่าให้เห็นภาพว่า เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี ตั้งแต่รัฐบาลที่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้วางรากฐานเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0
แต่ทว่าปี 2562 ประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกผันผวน สงครามการค้า และต้นปี 2563 มาเจอการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการคาดกันว่าหากไม่ทำอะไร จะมีคนติดเชื้อเป็นหมื่นคน รัฐบาลจึงต้องจำกัดโควิดให้จบเร็วที่สุดภายใน 3 เดือน โดยยอมหยุดกิจกรรมการทางเศรษฐกิจทั้งหมด
“ขณะนั้นมีการหารือกันให้การแพทย์นำการเมือง และเศรษฐกิจ เพื่อเอาโควิดให้อยู่ จึงมีการเชิญคุณหมอใหญ่เข้ามาร่วมแก้ปัญหา”
ณ วันนั้นรัฐบาลประเมินแล้วว่า เมื่อผ่านไป 3 เดือน ต้องสร้างสมดุลระหว่างการแพทย์กับเศรษฐกิจให้ได้ จะให้เหลือคนติดเชื้อเป็น 0 ราย เป็นเรื่องยาก ในด้านเศรษฐกิจคนจะไม่กิน ร้านค้าขายไม่ได้ คนตกงาน จะเดือดร้อนหมด
ดังนั้นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เมื่อจำกัดโควิดให้นิ่งได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องสร้างสมดุลการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส กับการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถือว่ารัฐบาลทำได้ผลคืออยู่ในช่วงเวลา 3 เดือน ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดนิ่งอยู่ในระดับต่ำ
ในช่วงเวลาที่มีการแก้ปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่เดือนต้นปี รัฐบาลได้เตรียมการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อเยียวประชาชนและธุรกิจ ดูแลตลาดเงินตลาดทุน
ประกอบด้วย พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนของคลังทำได้ดีตามเป้าหมายแม้ว่าตอนแรกจะมีปัญหา ในส่วนของกองทุนประกันสังคมตอนนี้ส่วนใหญ่ใด้เงินครบแล้ว จะทำให้ประชาชนมีเงินใช้อย่างประหยัดได้ 3-4 เดือน ซึ่งการดำเนินการนี้หมดเงินไปแล้ว 4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.ก.ซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดย ธปท. ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และไปปล่อยต่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2% ในส่วนนี้ยังไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะธุรกิจจำนวนมากเข้าไม่ถึง เนื่องจากระบบแบงก์เวลามีวิกฤตจะระวังการปล่อยกู้ ดูแลลูกค้าที่แบงก์มั่นใจ ทำให้ปริมาณสินเชื่อที่ให้ ธปท. เร่งออกไปยังไม่ได้ตามเป้า
สำหรับ พ.ร.ก. ซื้อตราสารหนี้เอกชน 4 แสนล้านบาท ก็มีปัญหา เพราะตราสารต้องมีเครดิตเรทติ้งในระดับที่น่าลงทุน ซึ่งบริษัทเรทติ้งมี 2 บริษัท คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง กับสถาบันจัดอันดับเครดิตฟิทช์ โดยมีบริษัทจำนวนมากที่ออกหุ้นกู้ แต่ไม่ผ่านการเรทติ้ง และบางบริษัทไม่เคยเรทติ้ง ดังนั้นในช่วงเร่งด่วน และมีเรทติ้งแค่ 2 บริษัท และเรทติ้งในภาวะวิกฤต ทำให้ติดขัดธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและใหญ่บางรายก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการนี้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แยกกันคิด เพื่อตั้งกองทุนเพื่อมาดูแลตราสารหนี้ของบริษัทที่เข้าไปถึงตราสารหนี้ พ.ร.ก. ตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท
สมคิด บอกว่า จากมาตรการที่ออกมาเห็นจุดอ่อน การเยียวยาอยู่ได้ 3 เดือน ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าไม่ถึงซอฟท์โลน และมาตรการตราสารหนี้ของ ธปท. ซึ่งจะทำให้มีการเลิกจ้างงาน
ดังนั้น ที่ผ่านมาได้ให้กระทรวงการคลัง หามาตรการให้ผู้ประกอบการไม่เลิกจ้างงาน โดยการให้มาตรการจูงในด้านภาษี ส่วนการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กให้เข้าถึงสินเชื่อ จะใช้กองทุนสงเสริมเอสเอ็มอี ของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) แต่เงินเหลือน้อย ก็จะขอจากเงินกู้อีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินไปช่วยเยียวยาเอสเอ็มอีโดยที่ไม่ต้องผ่านระบบแบงก์ โดยแลกกับการไม่เลิกจ้างงาน เป็นการยิงปีนนัดเดียวได้นกสองตัว อย่างไรก็ต้องดูแลผู้บริหารที่อนุมัติ หากไม่ทำเอสเอ็มอีจะล้มหมดและคนจะตกงานเยอะมาก
สมคิด บอกว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการดูแลเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ทุกคนรู้ว่าโควิดไม่จบแค่นี้แน่นอน ยังมีการระบาดที่ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ทุกอย่างยังกลับไม่สู่ภาวะปกติได้ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม จึงประเมินว่าโควิดกระทบเศรษฐกิจไทยถึงสิ้นปีแน่นอน และปีหน้าค่อยว่ากันอีกที จึงต้องสร้างงาน สร้างรายได้ ผ่านเงินกู้ 4 แสนล้านบาท จากพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เน้นแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทุกโครงการที่เข้ามาใช้เงินต้องเน้นชุมชนเข้มแข็ง ต้องสร้างงานสร้างรายได้ เพราะ จะมีแรงงานกลับไปท้องถิ่นมาก ต้องผลักดัน 2-3 เดือนนี้ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ต้องเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ ให้คนมีอำนาจซื้อใช้เงิน ให้คลังไปคิดมาตรการท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง เพราะมาตรการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ออกเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โรงแรม ร้านอาหาร ผู้ประกอบการนำเที่ยว สายการบิน เป็นหลัก ในส่วยของคลังต้องมองด้านทำให้คนไปเที่ยว
ซึ่งมาตรการท่องเที่ยว และการใช้เงิน 4 แสนล้านบาท สร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานราก น่าจะประคองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไปได้ แต่ยังไม่พอ เพราะการส่งออกของไทยไม่ฟื้น เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ยัีงแย่ การลงทุนต่างประเทศเป้าปีนี้ได้ 50-60% ของปีที่ผ่านมาที่สูงถึง 8 แสนล้านบาท ก็ถือว่าเก่งแล้ว
ดังนั้นได้ให้นโยบายคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด ให้ใช้ปีนี้ปีหน้าเตรียมตัว พอโควิดหมด บีโอไอต้องพุ่งออกมาเป็นดาวเดือนเด่น “ดังสุภาษิตจีนบอกว่า เวลาโอกาสไม่เปิด ต้องเป็นมังกรใต้น้ำ เพื่อลับเขี้ยวเล็บ พอโอกาสมาถึงก็ต้องกลายเป็นมังกรบินได้” ซึ่งปีนี้ทุกประเทศเป็นมังกรดำน้ำทั้งนั้น
ทั้งนี้ให้บีโอไอมองภาพลงการลงทุนของไทยต้องเป็นผู้นำ CLMVT เป็นห่วงโซ่อุปทานของโลก (Supply Chain) ของ CLMVT ดังนั้น บีโอไอ ต้องเป็นดาวเดือนเด่นในกลุ่ม CLMVT ให้ได้ เป็นผู้นำเป็นศูนย์กลางหรือฮับของการลงทุน ที่นักลงทุนจะต้องหนีข้อเสนอตรงนี้ของบีฌโอไอไม่ได้ เหมือนหนังเรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ที่บอกว่า “เรามีข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้”
สมคิด บอกว่า เมื่อมองคู่แข่งใน CLMVT ประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าใครเลย ดังนั้นต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเป็นฮับการลงทุนเรี่องอะไร ที่ผ่านมาไทยมีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมฐานการผลิตแล้ว มีโครงการอีอีซี ที่ต้องทำให้ดีอย่าให้สะดุด
สำหรับของใหม่ที่ต้องส่งเสริมการลงทุน คืออุตสาหกรรมบริการ ต้องทำให้เกิดให้ได้ ได้ให้ทางบีโอไอไปดูว่าอุตสาหกรรมการบริการอะไรที่คิดว่าสำคัญ เพื่อมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้ง อุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร การท่องเที่ยว การขนส่ง และ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ที่เป็นอุตสาหกรรมที่บีโอไอยังไม่เคยคิด
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าอังกฤษโดดเด่นได้ ทั้งที่ไม่มีความสามารถในการผลิตแล้ว เพราะมีไฟแนนเชียล เซอร์วิส เมืองไทยไม่มีอะไรแพ้สิงคโปร์ สถาบันการเงินไม่แพ้ ตลาดหุ้นเล็กกว่าไม่มาก บีโอไอต้องดึงกลุ่มธุรกิจการเงินตลาดทุนให้แข็งแรง
ที่ผ่านมาได้ ตลท. ให้มีการเชื่อมโยงตลาดหุ้นไทยฮ่องกง ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ซึ่งไม่มีประเทศไหนใน CLMVT ทำได้นอกจากประเทศไทย ซึ่งต้องมีการสานต่อจากที่ต้องหยุดจากโควิด แต่พร้อมเดินหน้าต่อ จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนไทยไม่เป็นรองใคร ทำให้ไทยเป็นไฟแนนเชียล เซอร์วิส ในภมิภาคนี้ได้เลย ทั้ง พม่า ลาว เวียดนาม สามารถมาใช้บริการของไทยได้ เหมือนกับที่อียูใช้บริการไฟแนนเชียล เซอร์วิสของอังกฤษ
นอกจากนี้ เรื่องการแพทย์ การศึกษา ของไทยก็โดดเด่นมาก ต้องทำให้เป็นฮับของภูมิภาค ขณะนี้มีคนฐานะดีใน กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว เต็มไปหมด ทำอย่างไรให้มาเรียนที่เมืองไทย
ขณะเดียวกัน บีโอไอ ต้องดันสตาร์ทอัพให้เป็นยูนิคอร์น ไม่เคยมีการพูดกันในเมืองไทย การสร้างยูนิคอร์น เหมือนการสร้างเครื่องจักรในการทำงาน สร้างจีดีพีของประเทศในอนาคตข้างหน้า ซึ่งต้องเปลี่ยนกฎระเบียนให้คนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานได้ แก้กฎหมายในการลงทุน บีโอไอต้องกล้าที่จะเสนอในการปฏิรูป บีโอไอต้องเป็นคนตั้งต้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาร่วม
“เรามีไอเดียแต่เราไม่กล้าคิด เราไม่กลัวสิงคโปร์ แต่เวียดนามกลัวไทย ที่จะเดินเส้นนี้และตามไทยไม่ทัน ดังนั้นได้ให้โจทย์กับบีโอไอ ให้ใช้ 2 ปีนี้สร้างฐานเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนเข้ามา และยุทธศาตร์สำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงระหว่างจุดต่างๆ ที่เข้ามาประเทศไทย ทั้งการเชื่อมฮ่องกง เซินเจิ้น ปักกิ่ง เซียงไฮ้ ถ้าทำได้จบเลย ทั้งเรื่องตลาดเงินตลาด ตลาดทุน การสร้างลงทุนใหม่ๆ หากนักลงทุนมาอีอีซีได้ เราไม่ต้องกลัวประเทศไหนเลย เวียดนามตามไทยไม่ทัน” สมคิด กล่าว
สมคิด สรุปว่า การส่งออกต้องประคองกันไป รอให้ตลาดโลกฟื้นตัว เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ยกเว้นไทยมีค่าเงินให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งไม่ต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของใคร แต่ถ้าเขารู้จักรับผิดชอบเพียงพอที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วงนี้สำคัญ
ที้งนี้ รัฐบาลได้วางทุกอย่างให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นปีนี้ไปได้ จากเงิน พรก.เงินกู้ มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณแผ่นดินของปี 2563 ตัดมาได้ 8 หมื่นล้านบาท งบปี 2564 ตัดมาได้ 4 หมื่นล้านบาท รวมแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง และทางสำนักงบประมาณบอกว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้จะหาเงินงบประมาณให้อีก 1-2 แสนล้านบาท เพื่อต้องเยียวยารอบสอง ต้องให้คนเดือดร้อนจริงไม่ได้จ่ายเยียวยาเหมือนรอบแรก ซึ่งรัฐบาลพยายามคิดล่วงหน้าว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
“เมื่อเราพ้นโควิด และเดินได้ตามแผน เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นมังกรบินได้” สมคิด กล่าว