19 พ.ย.2564- ภายหลังสำนักพระราชวัง เผยแพร่วีดิทัศน์อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 หรือสนามม้านางเลิ้งเดิม ในพื้นที่ 257 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ รัชกาลที่ 10 ทรงมอบที่ดินมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศ อ้างว่าจะมีการใช้สนามม้านางเลิ้งทำวังวชิราลงกรณ์คอมเพล็กซ์ ว่า
นิทานล้างสมองเด็กของ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” เรื่อง #วังวชิราลงกรณ์คอมเพล็กซ์ ดูเหมือนจะปัญญาอ่อนพอๆกับ นิทานหลอกเด็กไปติดคุกของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เรื่อง #สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง เพราะมันช่างห่างไกลจากความเป็นจริงเสียเหลือเกิน
สำนักพระราชวัง เผยแพร่แบบจำลอง อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ หรือสนามม้านางเลิ้งเดิม ในพื้นที่ ๒๙๗ ไร่
เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน
สวนสาธารณะ ปอดแห่งใหม่ สวนป่ากลางเมือง ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง โดยมี พืชกรองน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ตกแต่งด้วยพืชนานาชนิด โดยมีต้นไม้ใหญ่ ๔,๕๐๐ ต้น ต้นไม้ประจำจังหวัด ต้นไม้หายาก ต้นไม้โตเร็ว โดยให้คล้ายคลึงป่าธรรมชาติ และยังมีการปลูกพืชกรองฝุ่น และปลูกพืชบำบัดน้ำด้วย
จุดสำคัญคือ พระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ สระน้ำเลข ๙ สะพานเลข ๙ สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบากง ในแนวคิด “น้ำคือชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่นที”
และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการฟื้นฟูป่า รักษาแหล่งน้ำ เกษตรทฤษฏีใหม่ กังหันน้ำชัยพัฒนา บ่อปลานิล ฝายชะลอน้ำ พลังงานทดแทนจาก Floating Solar Cell อีกทั้งยังจะเป็นพื้นที่ “แก้มลิง” แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยเชื่อมคลองผดุงกรุงเกษม กับ คลองเปรมประชากร คลองสามเสน อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี สนามเด็กเล่น ลานกีฬากลางแจ้ง ลานริมน้ำ ท่าเรือ ทางปั่นจักรยาน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้องน้ำ ที่จอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับคนพิการ โดยอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการภายในปี ๒๕๖๗