26 ก.ย.2565 – ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 21/2565 ถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำถึงพายุโนรูที่กำลังจะเข้า ว่า สถานการณ์น้ำของปีนี้น้ำเยอะมาก จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนในกทม. เดือนก.ย.สูงมาก ปัจจุบันถึงวันที่ 25 ก.ย. มีปริมาณฝนสะสมวัดที่ดินแดง 922.5 มิลลิเมตร โดยค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลังทั้งปี ประมาณ 1,689 มิลลิเมตร ซึ่งเดือนก.ย.เดือนเดียวของกทม. 744 มิลลิเมตร ถ้าเทียบเฉลี่ยเดือนก.ย. 30 ปีย้อนหลัง ประมาณ 376 มิลลิเมตร ปัจจุบันคือเกินขึ้นไป 2 เท่าตัว ทั้งที่ยังไม่มีพายุเข้าเต็มๆ สักลูก เป็นแค่ร่องความกดอากาศ ดังนั้น ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า อนาคตเรื่องภาวะโลกร้อนลานีญา ก็จะรุนแรงขึ้น ฝนตกเยอะเป็นจุดๆ มีผลกระทบมากขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า แต่ที่ผ่านมาเราได้มีการบริหารจัดการได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะน้ำเพิ่มเป็น 2 เท่า และส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯน้ำไม่ได้ท่วมมาก ยกเว้นพื้นที่บางจุด เช่น ลาดกระบัง บางเขน ดอนเมือง บ้าง แต่ส่วนใหญ่ถือว่ายังอยู่ในภาวะที่ปกติ ส่วนเรื่องพายุโนรูที่กำลังจะเข้า เมื่อดูแล้วมี 2 สถานการณ์ คือ
1.หากพายุขยับมาทางล่างก็จะเจอกรุงเทพฯหนัก แต่เมื่อดูรูปแบบแล้วฝนก็จะไปตกที่ภาคอีสานและภาคกลางเยอะ ซึ่งเมื่อเช้าได้มีการประชุมทำฉากทัศน์ และมีสิ่งที่กังวลประเด็นหลักคือ น้ำในเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ที่อยู่ทางตะวันออก กับน้ำที่ลงมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กดดันพื้นที่ฝั่งตะวันออก กับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทางสำนักการระบายน้ำได้มีการทำแผนรับมือทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันออกและพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นวิธีการที่แตกต่างจากการที่ฝนตกในพื้นที่ ซึ่งฝนตกในพื้นที่คือดูดออก ถ้าน้ำจากเขื่อนคือกันน้ำเข้า จากคันกั้นน้ำริมแม่น้ำและริมคลอง แต่น้ำที่มาจากเขื่อนป่าสักฯ ก็จะต้องระบายทางด้านล่าง เช่น ลงมาทางคลองลำปลาทิว คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ต้องทำทางปิดล้อม ก็ได้สั่งให้ทำฉากทัศน์ ทั้ง 2 รูปแบบ ในแง่ฝนตกในพื้นที่ ตอนนี้เราเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด
สำหรับมาตรการมี 3 ส่วนคือ 1.เร่งระบายน้ำ พร่องน้ำ ให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ทุกคลองต่ำกว่าระดับเส้นควบคุมแล้ว 2.เสริมคันจุดที่อ่อนแอเพิ่มอีก เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองต่างๆ ซึ่งตอนนี้ได้มีการจัดงบประมาณ ซื้อกระสอบทราย เพิ่มมา 2,500,000 ลูก จะได้ประมาณ 1-2 วันนี้ 2. คือเสริมความแข็งแรงตามแนวป้องกันน้ำ และ 3.ให้ชุมชนช่วยกันดูแลตัวเองด้วย
“แต่ว่าที่ผ่านมา 1 เดือน เรารู้ว่าตรงไหนคือจุดอ่อนน้ำท่วม ก็แนะนำชุมชนให้ช่วยป้องกันด้วยในระดับหนึ่ง เช่น เอากระสอบทรายไปเพิ่ม แนะนำวิธีการป้องกันเพื่อให้ชุมชนเป็นแนวร่วมป้องกันน้ำท่วมด้วย แทนที่จะปล่อยให้ท่วมแล้วไปกู้ทีหลัง อย่างน้อยช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยที่ กทม.ให้ทรัพยากรเพิ่ม เช่น เครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย พอถึงเวลาวิกฤต ก็ช่วยกัน ประชาชนอาจจะต้องขนของย้ายก่อน แล้วก็ช่วยป้องกันพื้นที่ตัวเอง จะบรรเทาความเสียหายได้ดีขึ้น คือมาตรการหลักๆ แต่เราก็มอนิเตอร์เหตุการณ์ตลอด” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว
ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่เราเตรียมการเพื่อให้แแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ทางผู้ว่าฯกทม.ได้มีการแบ่งกลุ่มบริหารเป็น 6 กลุ่ม โดยมีรองปลัดกทม. ทุกท่าน ดูแลใน 6 กลุ่มเขต ซึ่งมีการขุดลอกคลอง 100 เปอร์เซนต์ เก็บผักตบชวา 100 เปอร์เซนต์ ทำความสะอาดท่าระบายน้ำ และติดเครื่องสูบน้ำในที่ต่างๆ รวมถึงการเรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเรื่องความร่วมมือกับหน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน จังหวัดปริมณฑลกองทัพเรือ หน่วยพัฒนาทหาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันกระสอบทรายมีพร้อมแจกได้ 2 แสนลูก และผู้ว่าฯกทม. ได้ให้เพิ่ม 2,500,000 ลูก
นายขจิต กล่าวต่อว่า โดย กทม. มีมาตรการการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งการจัดรถรับส่ง จัดช่วยเหลือรถเสียจัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรในพื้นที่ เตรียมอาหาร เตรียมที่พักฉุกเฉิน โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง ได้แก่ การดำเนินการก่อนฝนตก คือ การตรวจเรดาห์ หากพบมีรายงานและพยากรณ์การเกิดฝนตกในพื้นที่ กลุ่มงานระบายน้ำจะดำเนินการประสานประตูระบายน้ำในพื้นที่ เพื่อดำเนินการพร่องน้ำ ลดระดับน้ำลง เพื่อเตรียมรับมือ ส่วนการดำเนินการขณะฝนตก ฝ่ายเทศกิจ จะดำเนินการคือ
1. อำนวยความสะดวกด้านจราจร 2.จัดรถรับส่ง บริการประชาชน 3. ประสานกำลังหน่วยทหารในพื้นที่ร่วมช่วยเหลือ 4. อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือรถเสีย ประสานงานช่วยเหลือซ่อม5. ตรวจสอบต้นไม้ล้มทับสายไฟ สายสื่อสาร ฝ่ายรักษาฯ จะดำเนินการ เก็บกิ่งไม้ขยะหน้าตะแกรง กวาดไล่น้ำถนนที่มีน้ำท่วมขัง ช่วยเหลือประชาชน และการดำเนินการกลังฝนตกคือ ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ จะลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเร่งรัดดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือ โดยมีเบอร์ฉุกเฉินคือ 199 และฝ่ายโยธา 1. ดำเนินการแก้ไขปัญหา เร่งสูบ ระบายผลักดันน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด 2.ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ ทุกจุดที่มีน้ำท่วม3.รายงานผู้อำนวยการเขตและผู้บริหารเขตให้ทราบ และสำหรับฟีเจอรใหม่ของทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่สามารถแจ้งน้ำท่วมขอข้อมูลระดับน้ำ และระยะเวลาน้ำท่วมได้รวมถึงรับแจ้งน้ำท่วมใกล้บ้านหรือที่ทำงานได้ โดยทางกทม.จะลงไปดูทุกวันของจุดที่มีการแจ้ง
“ตัวน้ำฝนอาจไม่น่าเยอะ อาจจะมีบ้าง แต่ที่กังวลคือน้ำที่ตกด้านบนและไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือตามฝั่งตะวันออก คือดูน่าจะไปตกที่ภาคกลางและภาคอีสานเยอะ ซึ่งอาจะมีผลกระทบเพราะน้ำต้องไหลผ่านกรุงเทพฯอยู่ดี ” นายชัชชาติ กล่าว