.
วันนี้ (1 พฤษภาคม) ที่ห้องประชุมชั้น 5 (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) กระทรวงแรงงาน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เข้าร่วมงาน ขณะที่สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน, สุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2565 พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย สมาชิกสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจและแรงงานนอกระบบให้การต้อนรับและเข้าร่วมงาน
.
พล.อ. ประยุทธฺ์ กล่าวเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด อีกทั้งยังตระหนักถึงสิทธิ ความเสมอภาค สวัสดิการ และความปลอดภัยในอาชีพของผู้ใช้แรงงานทุกคน โดยพร้อมรับฟังความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำไปประกอบการพัฒนาความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกคนให้มีความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาชีพและการดำรงชีวิต ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเสมอมา ที่ผ่านมารัฐบาลมีความมุ่งมั่นผลักดันให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในทุกมิติอย่างเต็มรูปแบบในเวทีการค้าโลก ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ดังนั้นการพัฒนาแรงงาน เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีชีวิตที่ดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ
.
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ เช่น การเกิดโรคอุบัติใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ทำให้การดำเนินชีวิตและการทำงานเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องหาแนวทางทำให้ประเทศไทยมีรายได้ที่สูงขึ้น มีการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านต่างๆ พร้อมกับยกระดับฝีมือแรงงานให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถรองรับการทำงานในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ให้สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพ และยกระดับรายได้ โดยเฉพาะภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ที่ประเทศไทยสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และการพัฒนาศักยภาพของพี่น้องแรงงาน นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งเร่งพัฒนาและส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน ระบบสวัสดิการ มาตรฐานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ควบคู่กับการสนับสนุนหลักประกันสังคมที่จำเป็นต่อสภาวะสังคม ซึ่งรัฐบาลได้เร่งรัดให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม ให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
.
พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้กล่าวชื่นชมผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อผู้ใช้แรงงาน ที่ได้เสียสละทุ่มเท กำลังกาย กำลังความคิด เพื่อพัฒนาและร่วมขับเคลื่อนประเทศในทุกด้านผ่านโครงการสำคัญๆ ของรัฐบาล เช่น การช่วยเหลือเยียวยาลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้างผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมทั้งการให้บริการทางการแพทย์รักษาโควิดแก่ผู้ประกันตน โครงการ Factory Sandbox โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 – มีนาคม 2565 เป็นต้น
.
พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นยกระดับการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งประเมินโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผลักดันการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งแรงงานกลุ่มเปราะบาง แรงงานสูงอายุ และคนพิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อเสนอของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน มีความห่วงใยและตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และจะนำข้อเรียกร้องของพี่น้องแรงงานทุกกลุ่มทั้ง 8 ข้อ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เพื่อให้พี่น้องแรงงานทุกกลุ่มทุกคนได้รับการคุ้มครองและได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิทางกฎหมายที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ทุกคน ทุกภาคส่วนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกัน รัฐบาลมีความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหา และพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันจะดูแลแรงงานให้ดีที่สุด ก็ต้องแก้ปัญหากันไปทีละสเตป สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้มีรายได้เพียงพอที่จะกลับมาดูแลแรงงาน และคนไทยอีกหลายอาชีพในประเทศไทยกว่า 60 ล้านคน ขณะเดียวกันแรงงานทุกคนต้องอยู่กันด้วยความรักความเข้าใจ และจะต้องหารือพูดคุยกันในทางสันติวิธี ฟังเหตุผลกันให้ดี ทราบดีว่าความต้องการของเราเยอะ อะไรที่ทำให้ได้จะทำให้ แต่ต้องนำเสนอในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ ช่วงโควิดจ่ายเงินช่วยไปประมาณแสนกว่าล้านบาท และยังมีเรื่องการเกษตร เรื่องวัคซีน ค่าใช้จ่ายหมดไป 1 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมทั้งการฟื้นฟูและเยียวยา ก็รู้สึกเสียดายเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ชีวิตคนเราก็ต้องยอมดูแล คิดว่าทุกคนเข้าถึงได้หมด ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ก็ดูแลเต็มที่ อะไรบกพร่องก็เร่งแก้ไข ซึ่งตนก็ได้ย้ำอยู่เสมอ วันนี้มีรายได้เท่านี้ก็ต้องทำให้อยู่ในกรอบนี้ ทำอย่างไรให้บริหารได้และจัดหารายได้เข้ามาทดแทน พอโควิดเริ่มดีก็มีสงครามเข้ามาทดแทน ทั้งนี้ถ้ามีปัญหาอะไรที่ทำได้ก็จะทำให้ นายกฯ ไม่เคยปฏิเสธ แต่อย่าไปกระทบกับเรื่องอื่น ทำอะไรก็ตาม ขออย่าสร้างความเสียหายในอนาคตไม่ว่ากับใครก็แล้วแต่ และตนไม่อยากนำปัญหานี้ไปให้กับรัฐบาลหน้า ก็ทำตอนนี้ให้เต็มที่ ก็ขอให้กำลังใจกันหน่อย จะได้มีแรงสู้กับปัญหาต่างๆ กับทุกคน
.
ส่วนการขึ้นค่าแรง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังพิจารณาหารือกันอยู่ว่า หากจะขึ้นค่าแรงจะสามารถขึ้นได้เท่าไร หากยังไม่ขึ้นก็ต้องดูอัตราเงินเฟ้อด้วย เพราะบางครั้งมันสูงมาก สิ่งสำคัญตอนนี้คือการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ซึ่งหากที่อื่นถูกกว่าก็อาจจะย้ายไปทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้ลำบาก โดยเรื่องค่าแรงไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ แต่อยู่ที่การเดินข้างนอก ทั้งนี้ยืนยันว่าก็ดูประเด็นนี้อยู่แล้ว มีอะไรก็ขอให้สอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
.
จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย, กรมการจัดหางาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม และเยี่ยมชมศูนย์โรคหลอดเลือดสมองและระบบประสาทของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ การให้บริการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจโดยอายุรแพทย์หัวใจ บริการตรวจสายตา ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยโรงพยาบาลศิครินทร์ ซึ่งให้บริการตรวจฟรีแก่ผู้มาร่วมงานด้วย
.
เรื่อง: THE STANDARD
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
.