อธิบดีกรมสรรพากร เมินกระแสคัดค้าน ยืนยันเดินหน้าเรียกเก็บภาษีออนไลน์ สร้างความเป็นธรรมให้ระบบ ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยหวั่นกระทบอีคอมเมิร์ซ
กรมสรรพากร ยังคงเดินหน้ารับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) เพื่อแก้ไขประมวลรัษฎากร ในการเรียกเก็บภาษีออนไลน์ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากภาคเอกชน โดยการแก้ไขกฎหมายล่าสุด กรมสรรพากรได้ขอให้สถาบันการเงินรายงานธุรกรรมลูกค้าที่มียอดฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปีขึ้นไป หรือตั้งแต่ 200 ครั้งแต่มีมูลค่าเงินรวมกัน 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป มายังสรรพากร เพื่อหวังนำมาใช้เป็นข้อมูลในการเรียกเก็บภาษีการค้าผ่านออนไลน์
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรมีอำนาจในการขอรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้าจากสถาบันการเงินที่เห็นว่า มีความผิดปกติได้อยู่แล้ว แต่การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเน้นไปยังลูกค้าที่มีธุรกรรมพิเศษ เช่น การขายสินค้าหรือบริการต่างๆระบบออนไลน์ ก็ขอให้มีการรายงานเป็นประจำทุกปี
ส่วนที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือบริการ หากมีธุรกรรมการรับหรือโอนตามที่กำหนด ก็จะต้องรายงาน เพื่อให้ทราบว่า เป็นธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอะไร ซึ่งกรณีนี้ ก็จะช่วยป้องกันการทุจริตในด้านต่างๆ และรวมถึง ปัญหาฟอกเงินด้วย
ทั้งนี้ ธุรกรรมพิเศษที่สถาบันการเงินต้องรายงานนั้น หมายถึง ยอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่3,000ครั้งขึ้นไปต่อปี หรือ ยอดฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่200ครั้งขึ้นไปและมียอดรวมตั้งแต่2,000,000บาทขึ้นไปต่อปี
“ตามร่างเดิมที่เราเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เราไม่ได้กำหนดวงเงินหรือจำนวนธุรกรรมที่ต้องรายงาน แต่ทางกฤษฎีกาเห็นว่า ควรมีการกำหนด เพื่อให้เกิดความชัดเจน”
นายประสงค์ กล่าวว่า ไม่กังวลเกี่ยวกับผู้ที่มีความเห็นคัดค้านการออกกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่า เป็นการดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีรายอื่น และ หากผู้ค้าออนไลน์เห็นว่า ตนไม่ควรเสียภาษี ก็สามารถแสดงหลักฐานการลดหย่อนรายจ่ายต่างๆได้ ยกตัวอย่าง มีรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี แต่มีรายจ่ายกว่า 1.9 ล้านบาท เหลือกำไรไม่มากนัก เมื่อหักลดหย่อนต่างๆ เขาก็จะถือว่า ไม่มีภาระภาษี
การกำหนดให้มีการรายงานธุรกรรมพิเศษ จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการเสียภาษี ยกตัวอย่าง ร้านค้ามีรายได้ แต่เอารายได้ไปโอนให้กับลูกจ้าง เพื่อเลี่ยงภาษี ต่อไปนี้ ก็จะไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะกรมฯก็จะรู้ธุรกรรมของลูกจ้างด้วย ทำให้ลูกจ้างไม่ยอมที่จะให้นายจ้างโอนเงินมาใส่ในบัญชี เพราะจะต้องเป็นผู้มีรายได้และต้องเสียภาษีไปด้วย
ขณะที่ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฏหมายดังกล่าวของกรมสรรพากร เนื่องจากจะยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ทุกอย่างแย่ลง และบีบพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์บางกลุ่ม (เน้นว่าบางกลุ่ม) พยายามหนี และหลีกเลี่ยงการใช้ระบบการเงินของไทยหรือการเงินในระบบ
ด้วยกฏหมายลักษณะนี้จะผลักดันให้ผู้ค้าหนีออกจากระบบธนาคารไปสู่ระบบอื่น หรือไปประเทศอื่น แนวทางการรับมือของร้านค้าต่างๆ คาดว่า จะได้เห็นแม่ค้าเปิดบัญชีกันมากขึ้น โดยอาจเปิดเอง หรือให้ญาติๆ เปิดให้ และกระจายเงินรายได้ออกไปยังบัญชีต่างๆ เพื่อให้สรรพากรตรวจสอบไม่พบ
นอกจากนี้ อาจไปกระทบกับธุรกิจอื่นๆ เช่น แทงหวย บอล และธุรกิจสีเทาแบบอ้อมๆ หรืออาจจะมีบริษัทสตาร์ทอัพที่มาช่วยทำและกระจายเงินส่วนนี้ออกมาก็เป็นได้ เบื้องต้นผลกระทบเริ่มได้เห็นแล้ว มีความกังวลและคำถามจากหลายคนในแวดวงอีคอมเมิร์ซมาว่าจะต้องทำอย่างไรดี
เขากล่าวว่า กำหนดบังคับใช้จริงคือปี 2563 ฉะนั้นรัฐจึงยังไม่ควรออกมาพูดในเวลานี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพยายามกระตุ้นคนไทยให้หันมาใช้บริการบนดิจิทัล พร้อมเพย์ การออกมาพูดลักษณะนี้จะยิ่งทำให้เกิดผลเสีย คนไม่อยากจะใช้งาน ดูเหมือนว่าภาครัฐไม่ได้ทำงานกันเป็นทีม
สำหรับทางออกที่เหมาะสม ควรให้ผ่านจังหวะนี้ไปเสียก่อน ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเก็บภาษีธุรกิจ แต่ควรเก็บกับผู้ที่มีรายได้จำนวนมาก หรือหากจะออกมาตรการใดก็ไม่ควรเสียงดังจนเกินไป มิเช่นนั้นผู้ค้ารายเล็กๆ จะเกิดความกังวลและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในภาพรวม
“ผมมองว่ายังไม่ใช้ไทม์มิ่งที่ดีที่จะออกมาพูด การที่รัฐจะเข้ามาสอดส่องบัญชีธนาคารของประชาชนทุกคนในประเทศ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งรู้สึกว่าถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว น่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ อีกอย่างเพดานที่กำหนดไว้จำนวน 2 ล้านบาทและจำนวนครั้ง สำหรับการทำธุรกรรมดูเหมือนน้อยเกินไป ทางที่ดีน่าจะยืดเวลาออกไปก่อน ในระหว่างที่รัฐพยายามจะกระตุ้นให้คนไทยมาใช้งานบริการบนออนไลน์ มุ่งสู่สังคมไร้เงินสด ผลักดันพร้อมเพย์ สรรพากรกลับพยายามให้คนไทยส่วนหนึ่งหนีออกจากออนไลน์ หรือไปใช้แนวทางการชำระเงินวิธีอื่นแทน การออกกฏลักษณะนี้จะสร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการค้าขายออนไลน์แน่นอน” นายภาวุธ กล่าว
Cr.bangkokbiznews
สำนักข่าววิหคนิวส์