จากกรณี ดรามาวงการผ้าไหมไฟลุก หลัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อ้าง “กรมหม่อนไหม” มีงบประมาณ 560 ล้าน และตั้งคำถามทำไมต้องให้งบประมาณมากขนาดนี้
.
ล่าสุด มีรายงานว่า เพจ “ศักดา แสงกันหา มิสเตอร์ผ้าไหม-โคราช” หรือนายศักดา แสงกันหา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิกู๊ด จำกัด ทายาทวัย 30 ปี ของ “วันเพ็ญ แสงกันหา” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน จ.นครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ตอบโต้ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า
…
“กรมหม่อนไหม คือ “โอกาส” มิใช่ภาระของชาติ อย่างที่เขาถากถาง
.
จากกรณีมีคนตั้งถามทำร้ายหัวใจพวกเราชาวอีสาน ชาวเหนือผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับ “กรมหม่อนไหม” มายาวนานนับชั่วคน กับคำถามที่ว่าทำไมต้องมีกรมหม่อนไหม ไปส่งเสริมปศุสัตว์ประมง ดีกว่ามั้ย คำถามคำนี้ใจร้ายมาก เปี่ยมไปด้วยอคติ ความตื้นเขินทางความคิด และขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อ วิถีชีวิตของคนไทย
.
โดยเฉพาะพี่น้องของผมที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ผม “ศักดา แสงกันหา” ผมโตมากับต้นหม่อน และตัวไหม ผมกับแม่ เราเป็นเกษตรกร เราปลูกหม่อน เลี้ยงตัวไหม ทอผ้าขาย นี่คือชีวิตของเรา นี่คือวิถีชีวิตของครอบครัวอีกหลายครอบครัว และนี่คือคำดูถูกที่พวกเรา รับไม่ได้!
.
ผ้าไหมกับวิถีชาวบ้าน ผมเกิด และเติบโตมาในภาคอีสาน ตั้งแต่เล็กจนโตเห็นการใช้ผ้าไหมในวิถีชีวิตต่าง ๆ โดยในสมัยก่อนผ้าไหมไม่ได้เป็นสินค้าในการจำหน่ายซะทีเดียว แต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะเป็นอาชีพเสริมที่ผู้หญิง จะต้องทำผ้าไหม หรือผ้าฝ้าย เพื่อใช้ในพิธีการต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน ใช้เป็นเครื่องไหว้ต้อนรับ ผู้ใหญ่ของอีกฝ่าย และตัดชุดซึ่งคิดว่า เป็นชุดที่สวยที่สุดในวันสำคัญของชีวิต
.
ต่อมาหากมีลูกเป็นผู้ชาย ก็จะนำผ้าไหม ให้ลูกใช้ใส่เป็นนาคก่อนบวช หรือนำไปตัดเป็นผ้าไตรให้ลูกสำหรับใช้บวช นอกจากสองพิธีที่กล่าวมาข้างต้น ในงานมงคลต่าง ๆ ทางศาสนา ก็จะมีผ้าไหมเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ ๆ เพื่อสื่อว่า “ผ้าไหมคือผ้าที่ดีที่สุด มงคลที่สุด” และเมื่อถึงวาระสุดท้าย คุณค่าอันสูงสุดของวิถีชีวิตของพวกเรา ผ้าไหมใช้ห่ออัฐิของบิดามารดาเพื่อเก็บไว้ประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
.
ผ้าไหมกับการสร้างรายได้และอาชีพ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในปัจจุบัน ในหมู่บ้านของผมนั้น ผ้าไหมแทบจะกลายเป็นรายได้หลักในยามที่มีวิกฤต โรคระบาดเช่นนี้ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถสร้างรายได้ได้ตั้งแต่ ใบหม่อน ราคารับซื้อในปัจจุบันตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 10-30 บาท โดย 1 ไร่สามารถผลิตใบหม่อนได้เกือบ 5,000 กิโลกรัมในตลอดทั้งปี ต่อมาคือการเลี้ยงไหม
.
ชาวบ้านเริ่มด้วยการ ซื้อไข่ไหมราคาเป็นธรรมจากกรมหม่อนไหมมาในราคา 15-20 บาท หรือบางครั้งมีการแจกให้ฟรี ไข่ไหมหนึ่งแผ่น (ขนาดเท่ากระดาษเอสี่) สามารถเลี้ยง และสาวเป็นเส้นไหมได้ 4-6 กิโลกรัม เส้นไหมราคาปัจจุบันอยู่ที่ กิโลกรัมละ 1,400-1,600 บาท นอกจากเส้นไหมที่ขายได้แล้ว
.
ดักแด้ ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเส้นไหมยังสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 80-120 บาท ไข่ไหม 1 แผ่น จะสามารถได้ดักแด้ประมาณ 10-20 กิโลกรัม หลังจากเราได้เส้นไหมมาแล้วเราจะนำเส้นไหมไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การฟอกกาวไหม ย้อมไหม มัดหมี่ และสุดท้ายทอออกมาเป็นผ้าไหม ซึ่งสามารถขายได้ ตั้งแต่ราคา เมตรละ 400 บาทจนถึงราคาเมตรละหลายหมื่นบาทไปจนถึงเมตรละเป็นแสนก็มี
.
ภูมิปัญหาท้องถิ่น คือโอกาสที่ต้องส่งเสริม เทคนิคที่พูดถึงนั้น ก็หมายถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ที่เป็นสิ่งล้ำค่า สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้า แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาด พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระราชินีในรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ท่านได้นำภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของไทยไปตัดเป็นชุดฉลองพระองค์ และเผยแพร่ให้กับคนทั่วโลกได้รับรู้ถึงความงามของผ้าไหมไทย และภูมิปัญญาในการทอผ้าของไทย
.
การทำงานร่วมกับ กรมหม่อนไหม “กรมหม่อนไหม” ได้มีส่วนสำคัญในการเข้ามาพัฒนาสายพันธุ์ของไหมไทย เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงไหมให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น และยังสนับสนุนส่งเสริมด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพ และมาตฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมไปถึงการประสานงานช่วยหาตลาดร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกด้วย
.
หม่อนไหม คือ โอกาสของประเทศผมเคยอ่านเจอวิสัยทัศน์หนึ่งของผู้บริหารประเทศเมื่อ 10 ปีก่อน ที่พูดถึง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผมอยากจะบอกว่า นี่คือโอกาสของประเทศ ไหมไทย คือโอกาสของเกษตร ของคนไทย เราสร้างมูลค่าเพิ่มมากมายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ และโดยเฉพาะจากผ้าไหม
.
เทียบงบประมาณปีล่าสุด กรมหม่อนไหม ได้รับงบ 560 ล้านบาท เพื่อดูแลเรื่องนี้ทั้งระบบ แต่รายได้ของการขายผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ต่างไหมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ยา หรือเครื่องนุ่งห่ม เราสร้างรายได้รวมเข้าประเทศได้หลักหมื่นล้าน ใครที่จะมาเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้บริหารประเทศไทยต่อไป ยิ่งต้องมองเป็น “โอกาส” หาใช่การผลักไสวิถีชีวิตของพวกเราไปเป็นเรื่องตลก หรือมองเป็น “ภาระ” และท่านจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงของพวกเราอีกเลย