รูปเก่า เล่าใหม่
นายไกรสร ตันติพงศ์ ส.ส.เชียงใหม่ 7 สมัย
จากนักหนังสือพิมพ์ตัดหัวศพใส่ปิ๊บลงกท.พิสูจน์
นายไกรสร ตันติพงศ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2473 ที่ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง เชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 4 ในบรรดาบุตรทั้ง 6 คนของนายหิรัญ และ นางทองสุก ตันติพงศ์ (สกุลเดิม ชุติมา)เรียนอนุบาล ที่โรงเรียนวัดเกตุการาม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4 ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ย้ายไปโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาย้ายกลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลล์วิทยาลัย ชั้นมัธยมปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
นายไกรสร ถึงแม้จะมีศักดิ์เป็นหลานน้าของนายสุวิชช์ พันธเศรษฐ ส.ส. 3 สมัย และนายทองดี อิสระชีวิน ส.ส.4 สมัย แต่ก็ไม่เคยไปอยู่บ้านของทั้งสองเลย ซึ่งทั้งสอง ส.ส. เป็นน้องชายคุณแม่ทองสุก โดยอยู่ที่บ้านต้นตระกูลของคุณแม่ทองสุก บางช่วงหลานกับน้าต้องแข่งขันกันในสนามเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่
นายไกรสร เริ่มต้นประกอบอาชีพ นักหนังสือพิมพ์ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์แผ่นดินไทย รายสัปดาห์ วางตลาด วันสลากกินแบ่งรัฐบาลออก สมัยนั้นกองสลากออกหวยทุก 7 วัน พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ตอนเป็นเด็ก ก็เคยไปวิ่งขายหนังสือพิมพ์แผ่นดินไทย วันหวยหวยออก พร้อมกับประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต สาขาเชียงใหม่ ด้วย
วันหนึ่งขณะนั่งประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพแผ่นดินไทย ได้มีชาวบ้านอำเภอสารภี ประมาณ 100 คน ได้พากันมาร้องเรียนให้ช่วยเสนอข่าว เรียกร้องขอความเป็นธรรม กับผู้บังคับบัญชา เนื่องจากคนในหมู่บ้าน ตายปริศนาจากตำรวจทำให้ตาย แต่ผู้บังคับบัญชาตำรวจ ยืนยันว่าตายโดยธรรมชาติ คือเข้าข้างลูกน้อง ไม่มีใครจัดการช่วยให้ความเป็นธรรมกับญาติผู้ตายได้ ทั้งที่กระโหลกมีแผลรอยช้ำ ด้วยความกล้าหาญ ของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หนุ่ม อุดมการณ์แรงกล้า จึงให้ญาติคนตาย ตัดคอนำศีรษะคนตายใส่ปิ๊บ แล้วพาญาติคนตาย หิ้วปิ๊บนำศีรษะศพ นั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ เพื่อส่งพิสูจน์ที่กรมตำรวจ สร้างความฮือฮาให้กับชาวเชียงใหม่ เวลานั้นมาก ต่างกล่าวถึงบรรณาการหนังสือพิมพ์ ที่มีความกล้าหาญบ้าบิ่น ที่ไม่มีใครกล้าคิด กล้าทำ แต่นายไกรสรทำ ในการใช้วิธี ตัดคอนำหัวศพเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ผลการพิสูจน์ คนตายถูกของแข้งกระทบศีรษะจริง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ ทำให้ตำรวจมีการรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ นายไกรสร จึงเป็นขวัญใจชาวเชียงใหม่ขึ้นมาทันที เรื่องนี้
แอดมิน ได้รับการเล่าจาก ส.ส.ไกรสร โดยตรง
ในปี พ.ศ.2500 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชาวอำเภอสารภี หลายร้อยคน ได้ยกขบวนมาพบนายไกรสร ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์แผ่นดินไทย ตั้งอยู่ถนนแก้วนวรัฐ เรียกร้องให้นายไกรสร ลงสมัครเลือกตั้งผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลว่านายไกรสร เหมาะสมที่จะเป็น ผู้แทนราษฎรมากกว่า เป็นนักหนังสือพิมพ์ เนื่องจากจะช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า เป็นนักหนังสือพิมพ์
นายไกรสรปฎิเสธเสียงแข็ง ให้เหตุผลว่าไม่มีเงินพอที่จะออกไปหาเสียงทุกอำเภอ ในขณะนั้นการเลือกตั้งเป็นเขตจังหวัด พื้นที่กว้างขวาง ไม่แบ่งเป็นเขตเล็กเหมือนกับสมัยนี้ ประกอบกับทุกอำเภอเดินทางลำบาก เนื่องจากยังทุรการดาร แต่ชาวบ้านให้การรับปาก ชาวอำเภอสารภี จะช่วยกันหาเสียงให้ เต็มที่
เมื่อขัดใจชาวบ้านไม่ได้ จึงตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฎว่าชาวเชียงใหม่ ให้การต้อนรับทั้งจังหวัด จากผลงานตัดหัวศพใส่ปิ๊บส่งพิสูจน์และร้องหาความเป็นธรรมไปกรุงเทพฯ คนเชียงใหม่ ทุกอำเภอเทคะแนนเสียงให้เป็นอันดับ 1 ของจังหวัด ขณะนั้นมี ส.ส.ได้ 5 คน ชนะอาแท้ๆน้องของแม่ทั้งสองคน คือ
นายสุวิชช์ พันธ์เศรษฐ์ และนายทองดี อิสระชีวิต รวมทั้งนายพิรุณ อินทราวุธ นายวรศักดิ์ นิมานันท์ หลังจากนั้นเป็นต้นมานายไกรสร ขวัญใจชาวเชียงใหม่ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ติดต่อกัน 7 สมัย โดยไม่สอบตกแม้แต่ครั้งเดียว
ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยเป็น ส.ส.ประมาณปี 2528 ได้นำคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี ขึ้นมาตรวจการก่อสร้างถนน 4 เลน เชียงใหม่ พบว่ากรมทางหลวงว่าจ้างแพงเกินจริง เพียง 12 กิโลเมตร มีราคาแพงถึง 175 ล้านบาท จึงให้มีการตัดงบประมาณเหลือ 150 ล้านบาท และเพิ่มความยาวจาก 12 กิโลเมตร เป็น 15 กิโลเมตร ได้ราคาถูกลง 25 ล้านบาท และได้ความยาวเพิ่มอีก 3 กิโลเมตร ทราบว่าคณะกรรมาธิการชุดนายไกรสรได้ออกตรวจการสร้างถนนของกรมทางหลวงไปทุกประเทศ สามารถรักษาผลประโยชน์ของรัฐได้ปีละหลายร้อยล้านบาท นายไกรสร เป็นผู้เบิกให้มีการสร้างถนนตัดฝาง-เวียงปาเป้า และแม่อาย – เชียงราย
นายไกรสรเสนอพรบ.ตั้งจังหวัดฝาง และ พรบ.เชียงใหม่มหานคร ให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร เหมือนกรุงเทพมหานคร แต่ทุกครั้งเสนอเข้าไป สภาถูกยุบ เลยไม่สำเร็จ
นายไกรสร เป็น ส.ส.เชียงใหม่ 7 สมัย ตั้งแต่ปี 2500-2531 ตั้งแต่เขตใหญ่ และมาเป็นเขตเล็ก แบ่งออกเป็น 3 เขต คือเขต 1 เขต 2 เขต 3 นายไกรสร ลงเขต 3 คือสายเหนือ ตั้งแต่อำเภอแม่แตง ขึ้นไปถึงอำเภอฝาง จนถึงปี 2531 นายไกรสร เห็นว่าการเลือกตั้ง มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันทุกอำเภอ คนรวยจากที่อื่นเอาเงินใส่กระเป๋าเจมส์บอน มาทุ่มซื้อเสียง ชาวบ้านเห็นแก่เงิน มากกว่าความถูกต้อง นายไกรสร เลยไม่ลงสมัครเลือกตั้งอีกต่อไป ยุติบทบาททางการเมือง ประกอบคุณแม่ทองสุกอายุมาก และขอร้องให้เลิกเล่นการเมือง ทั้งที่ประชาชนยังสนับสนุนอยู่ นายไกรสรให้เหตุผลผู้สนับสนุนว่าไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับพวกซื้อประชาชน และประชาชน ก็ยอมขายสิทธิให้เพียง หัวละ 50 บาทบ้าง 100 บาทบ้าง
บั้นปลายในชีวิตเขียนหนังสือ และบทความลงที่หนังสือพิมพ์ภาคเหนือนายวัน และศึกษาตำราโหรศาตร์ทางการเมือง ในบางครั้งทำนายแม่นยพเสียด้วย เคยทำนายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ดวงตกจะไม่ได้อยู่แผ่นดินแม่
นายไกรสร เป็นคนหยิ่งในศักดิ์ศรีของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครได้ดูถูก และไม่ยอมพึ่งใคร แม้แต่ความตาย ได้สั่งญาติลูก เมีย หากเจ็บ ตาย ห้ามบอกใครสักคน เมื่อตายให้มอบศพให้โรงพยาบาลทันที ไม่ต้องทำบุญ อย่าให้แพร่งพรายให้ใครทราบ โดยเด็ดขาด ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าตายไปแล้ว ให้ค่อยไชื่อหายสาบสูญไปเอง
นายไกรสร ตันติพงศ์ เรียกตัวเองว่า ส.ส.เชียงใหม่ 7 สมัย เนื่องจากไม่เคยแพ้เลือกตั้ง ไม่ให้เรียกอดีต ส.ส. ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2561 สิริอายุรวม 87 ปี โดยที่ไม่มีใครรู้เลย เนื่องจากญาติ ได้ปฎิบัติบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด แต่ด้วยมีคนรักเคารพมาก วันสำคัญเช่นวันปีใหม่ จะไปอวยพร วันสงกราณ์จะไปสระเกล้าดำหัว เป็นประเพณี เมื่อไปหาที่บ้านไม่พบ ภรรยาบอกแต่เพียงว่า ไม่สบายไปรักษาตัวโรงพยาบาล โดยไปอาศัยอยู่กับลูกชายที่กรุงเทพฯ ไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อไร แต่ในที่สุดความลับก็ไม่เป็นความลับ เมื่อไปหายไปหลายปี เมื่อคนไปหามากขึ้น ภรรยาได้เผลอแพร่งพรายออกมาว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว ที่ไม่ยอมบอกใคร เนื่องจากท่าน สั่งไว้ห้ามบอกใครเด็ดขาด ท่านไม่ต้องการให้ ผู้เคารพรักทุกคน เสียเวลาอันมีค่ามาร่วมงานศพ ท่านขอไปอย่างสงบของท่านเอง ท่านต้องการอย่างนี้ ญาติจึงต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้แต่
แอดมิน ถือว่าเป็นคนสนิทคนหนึ่ง กว่าจะรู้ความจริงเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี.
(นายไกรสร ตันติพงศ์ ยืนใส่แว่น)
อำนาจ จงยศยิ่ง
บันทึก 26 กรกฎาคม 64
Cr: อำนาจ จงยศยิ่ง หนังสือพิมพ์ภาคเหนือ