เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สหรัฐบูลลี่รัสเซีย ! อ้างปูตินจนตรอก หลังจ่ายค่าก๊าซเป็นเงิน”รูเบิล” แต่ค่าเงินกลับพุ่ง

#สหรัฐบูลลี่รัสเซีย ! อ้างปูตินจนตรอก หลังจ่ายค่าก๊าซเป็นเงิน”รูเบิล” แต่ค่าเงินกลับพุ่ง

1 April 2022
485   0

วันนี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศอเมริกาชี้ว่า ข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ขอให้พวกผู้ซื้อต่างชาติจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล เป็นสัญญาณแห่งความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ และการเงิน ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯ กลับส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปกดดันผู้นำทั่วโลกในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางสัญญาณว่า คลื่นความช็อกทางเศรษฐกิจของรัสเซีย อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตร ดูเหมือนกำลังลดน้อยถอยลง
.
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า พวกประเทศ “ไม่เป็นมิตร” ซึ่งรวมถึงชาติสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดด้วยนั้น จำเป็นจะต้องเปิดบัญชีสกุลเงินรูเบิลสำหรับจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่แดนหมีขาวส่งให้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป
.
บรรดาประเทศยุโรป ในนั้นบางส่วนพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นอย่างมาก ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว และรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า มันเทียบเท่ากับเป็นการแบล็คเมล์
.
เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา “ผมคิดว่าพื้นฐานของเรื่องนี้ก็คือ มันเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของสถานการณ์เลวร้ายที่เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังเผชิญอยู่” ไพรซ์บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงสรุปประจำวัน และบอกว่า มันขึ้นอยู่กับบรรดาชาติยุโรปที่จะตัดสินใจแนวทางตอบโต้ของพวกเขา
.
ไพรซ์กล่าวว่า “มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ การควบคุมการส่งออก และมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่กำหนดตอบโต้การรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ได้ส่งผลกระทบใหญ่หลวง อย่างเป็นรูปธรรม และถ้วนทั่ว และนำมาซึ่งความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ และทางการเงิน ในส่วนของรัสเซีย”
.
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวอีกด้านหนึ่งของรอยเตอร์ ระบุว่า ในสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเร่งเร้าบรรดาผู้นำทั่วโลก ให้เดินหน้ากดดันมอสโก หรือเข้าร่วมคว่ำบาตร และใช้มาตรการอื่นๆ ในขณะที่สงครามในยูเครนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 แล้ว และคลื่นความช็อกทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นที่เกิดขึ้นกับรัสเซียนั้น ดูกำลังลดน้อยถอยลง
.
วัลลี อาเดเยโม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในลอนดอน บรัสเซลส์ และปารัส และจะปิดท้ายสัปดาห์ด้วยเบอร์ลิน ส่วน ดาลีบ ซิงห์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เดินทางไปกดดันเจ้าหน้าที่อินเดียในนิวเดลี ส่วนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ หารือสงครามยูเครนกับชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล-นาห์ยาน มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี ในโมร็อกโก
.
ความพยายามดังกล่าว มีขึ้นในขณะที่ผลกระทบในเบื้องต้นของมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมาต่อภาคธนาคารรัสเซีย เหล่าบุคคลทางอิทธิพลทางธุรกิจ และการเมือง และบริษัทต่างๆ เริ่มค่อยๆ จางหายไป และสหรัฐฯ กำลังพิจารณาก้าวย่างถัดไปทางเศรษฐกิจ ในการโดดเดี่ยวประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
.
ภายในไม่กี่วันหลังจากตัดสถาบันการเงินหลักๆ ของรัสเซียออกจาก SWIFT (เครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่น และรวดเร็ว) และอายัดเงินส่วนใหญ่ในเงินตราต่างประเทศทั้งหมด 630,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ของธนาคารกลางรัสเซีย ค่าเงินของสกุลรูเบิลอ่อนค่าลงกว่าครึ่ง กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่อเมริกาออกมาประกาศว่ามอสโกกำลังต่อสูุ้กับวิกฤตทางการเงิน
.
อย่างไรก็ตาม หนึ่งเดือนต่อมา รูเบิลฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมาก สู่ระดับเกือบเท่ากับช่วงก่อนหน้ารัสเซียยกพลรุกรานยูเครน ส่วนหนึ่งจากมาตรการควบคุมเงินทุนของรัสเซีย รัฐบาลสั่งให้บรรดาบริษัทส่งออกขายเงินตราต่างประเทศ และบริษัทต่างๆ กำลังรวบรวมทุน เพื่อชำระภาษีสิ้นไตรมาส หุ้นในตลาดหุ้นของรัสเซียกลับมาซื้อขายกันอีกครั้ง แม้มูลค่าลดต่ำลงก็ตาม
.
ธนาคาร VTB VTBR.MM ของรัสเซีย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของมาตรการคว่ำบาตร ยังคงเปิดทำการในยุโรป ดินแดนที่พวกเขารวบรวมเงินหลายพันล้านยูโรปในรูปแบบของเงินฝาก ส่วนใหญ่จากผู้ฝากชาวเยอรมนี ส่วนธนาคารอื่นๆ ของรัสเซียกำลังพิจารณาใช้ระบบบัตรเครดิต UnionPay ของจีน หลังจาก Visa และ Mastercard ระงับให้บริการในรัสเซีย
.
จนถึงตอนนี้มาตรการคว่ำบาตร ยังไม่แตะต้องสายเลี้ยงชีพทางเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของรัสเซีย นั่นก็คือ การขายพลังงานป้อนยุโรป ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงสุดถึง 500 ล้านยูโรต่อวัน ณ ราคาปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว การที่รัสเซียต้องการให้จ่ายค่าพลังงานในรูปแบบสกุลรูเบิล เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ก็ยิ่งจะช่วยทำให้รูเบิลแข็งค่าขึ้น
.
เจ้าหน้าที่ระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังหาทางสร้างความมั่นใจว่า พันธมิตรยุโรป จะเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างหนักแน่นในการลงโทษปูติน และหวังโน้มน้าวพวกผู้นำคนอื่นๆ ที่วางตัวอยู่วงนอก แม้สงครามจะขยายวงออกไปเรื่อยๆ
.
การเดินทางเยือนทั่วโลกของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจาก ไบเดน เพิ่งเดือนทางเยือนยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมีขึ้นหลังจากรัสเซีย และจีน ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดย หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนพบปะกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียในวันพุธที่ผ่านมา และเน้นย้ำถึงแผนของปักกิ่งในการสานต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี และส่งเสริมความร่วมมือที่มีต่อกัน
.
อาเดเยโม หารือกับเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการคลังของยุโรป เกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ผลกระทบของอินเดีย และจีนในความพยายามหลบหลีกมาตรการคว่ำบาตรของรัสเซีย และแนวทางช่วยเหลือประเทศต่างๆ อย่างเช่นเยอรมนี สำหรับชดเชยความต้องการทางพลังงาน ในกรณีที่ห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
.
ในอินเดีย ดาลีบ ซิงห์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติบอกกับพวกเจ้าหน้าที่ว่า สหรัฐฯ จะไม่กำหนดเส้นตายใดๆ เกี่ยวกับการซื้อน้ำมัน แต่เตือนเกี่ยวกับการเร่งซื้อน้ำมันของรัสเซียอย่างรวดเร็ว
.
ทั้งนี้ อินเดีย มีกองทัพที่พึ่งพิงเทคโนโลยี และยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซียเป็นอย่างมาก และพยายามสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ทั้งนี้อินเดียไม่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย ผิดกับชาติสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม Quad ซึ่งที่เหลือประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
——————————-