กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยระบุว่ากำลังดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรกลุ่มบุคคลในเมียนมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาด้วย
BBC -”เรามีความเป็นห่วงและกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงทำร้ายทรมานชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงโทษบุคคลใด ๆ ซึ่งร่วมกันกระทำการโหดร้ายทารุณในครั้งนี้ โดยรวมถึงผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ และกลุ่มพลเรือนที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วย” แถลงการณ์ระบุ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯยังชี้ว่า การพิจารณาคว่ำบาตรเป็นรายบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ เป็นไปตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแมกนิตสกีฉบับที่ใช้ครอบคลุมทั่วโลก (Global Magnitsky Act ) ซึ่งกฎหมายนี้อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถคว่ำบาตรบุคคลต่างชาติผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันอย่างร้ายแรงได้ทั่วโลก โดยห้ามบุคคลเหล่านี้เดินทางเข้าสหรัฐฯ ทั้งดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่มีอยู่ในสหรัฐฯทั้งหมดได้อีกด้วย
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่นายชามีม อาห์ซาน ทูตบังกลาเทศประจำสหประชาชาติออกมาเผยว่า บังกลาเทศไม่สามารถจะรองรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้ไหวอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากขณะนี้มีผู้อพยพข้ามแดนหนีเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่เข้ามายังบังกลาเทศกว่า 600,000 คน นับแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องอยู่กันอย่างแออัดในค่ายพักโดยขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค แต่รัฐบาลบังกลาเทศไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง
“นี่เป็นสถานการณ์ที่รับไม่ไหวแล้วจริง ๆ แต่เงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จนกว่ารัฐบาลเมียนมาจะยินยอมรับพลเมืองของตนกลับไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยคนเหล่านี้จะต้องเต็มใจกลับไปด้วย” นายอาห์ซานกล่าว
ในการประชุมของสหประชาชาติเพื่อระดมทุนหาเงินช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่นครเจนีวา ล่าสุดสามารถรวบรวมเงินบริจาคได้ราว 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว แต่สหประชาชาติได้ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ที่ 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะพอนำไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคนไปได้นานราว 6 เดือน
ก่อนหน้านี้การปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาและกองกำลังตำรวจเมียนมา เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีการกวาดล้างสมาชิกกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาอย่างกว้างขวาง โดยมีการเผาบ้านเรือนและใช้กำลังทำร้ายผลักดันให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่และหนีภัยข้ามแดนเข้าไปยังบังกลาเทศ องค์การสหประชาชาติเรียกวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมในครั้งนี้ว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามแบบฉบับในตำรา”
สำนักข่าววิหคนิวส์