วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมคณะ เข้าพบหารือกับนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ณ สำนักสาขาพหลโยธิน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการ ในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่พี่น้องเกษตรกรทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ งานเท่าที่ผ่านมาเน้นเรื่องการแก้ปัญหาน้ำแล้งและการจัดหาน้ำเพื่อการผลิต การบริโภคให้แก่พี่น้องเกษตรกร สำหรับการเกษตรเน้นให้ทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้พืชผลการเกษตรเหล่านั้นสามารถส่งเข้าไปขายตามห้างสมัยใหม่ได้ด้วย
คณะกรรมาธิการได้เข้าไปให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนในการทำฝายชะลอน้ำแกนดินซิเมนต์แก่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดน่าน ได้แล้วราว 50 ตัว ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะทำการเกษตรอย่างยั่งยืนได้ตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา
นอกจากนี้เรายังได้ทำงานร่วมกับชมรมฮักเมืองน่านในการแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกินของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้อีกด้วย
นายสังศิต ย้ำว่าการแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดน่านจำเป็นต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆทั้งของภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน ด้วยเหตุนี้จึงหวังว่าคุณบัณฑูร ที่เป็นผู้เสียสละและทำงานให้แก่พี่น้องจังหวัดน่านอย่างโดดเด่นที่สุดท่านหนึ่ง จะได้ให้คำแนะนำและให้ประสบประการณ์ที่ทรงคุณค่าแก่คณะกรรมาธิการ
นายบัณฑูร ล่ำซำ กล่าวว่าสถานการณ์เรื่องน้ำของจังหวัดน่าน อาจจะคาดการณ์ได้ยากอาจจะเป็นเพราะป่าไม้หายไป 28% ของพื้นที่ป่าของจังหวัด จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ป่าคืนมา และเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ก็จะไม่มีทางคืนพื้นที่ป่าได้
แต่เดิมปลูก เช่น ข้าวโพด ก็ยังจนเหมือนเดิม หนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีใครขยับไปไหน ทุกคนจองพื้นที่ รัฐก็ไม่กล้าแตะ ทั้งนี้ จ.น่านมีโครงการนำงบประมาณลงไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่สามารถทำให้ป่าไม้เพิ่มขึ้น ยืนยันได้จากตัวเลขทางดาวเทียม ซึ่งยังอยู่เท่าเดิมคือ 28% ไม่ได้คืนเพิ่มขึ้น ถ้าให้วิเคราะห์เห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น แต่พื้นที่ป่าไม่เพิ่ม เนื่องจากยังไม่มีใครยอมคืนพื้นที่ป่า ผมทำในส่วนของผม อาจารย์จะให้ช่วยอะไร
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวว่า “กมธ. อยากจะสนับสนุนงานที่ท่านทำอยู่ จับมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งเสริมการทำฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์และการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน”
คุณบัณฑูรเห็นว่าการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในจังหวัดน่านนั้นยังขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่วน คทช. ยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ จนไม่เห็นแสงแดด ส่วนกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็พูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำว่าจะให้ชาวบ้านทำอะไร ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องเกษตรศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ที่จะช่วยประชาชนได้ ส่วนต้นไผ่ไม่ใช่ต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ในลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 แต่ถ้าจะปลูกป่าเพื่ออนาคตของคนรุ่นหลังที่ถูกต้องตามเกณฑ์นิเวศวิทยา ต้องปลูกต้นไม้ที่ขึ้นจริงๆและอยู่ตลอด ดังนั้น ไผ่เป็นทางออกในบางส่วน แต่ไม่ใช่ของทั้งป่า ท่านเจ้าคุณวัดพระธาตุแช่แห้งสนับสนุนในเรื่องนี้ แต่ได้เฉพาะพื้นที่ด้านล่าง ลุ่มน้ำ 3 , 4 , 5 แต่ลุ่มน้ำ 1 , 2 ทำไม่ได้ การบังคับใช้กฎหมายทำไม่ได้ดี จ.น่านเป็นพื้นที่ที่แก้ไขยากไม่เหมือนพื้นที่อื่น
ชมรมฮักเมืองน่าน เป็นชมรมที่นำท่านลงพื้นที่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว โดยได้ไปมาแทบทุกตำบล จึงสามารถกลับมาเสนอยุทธศาสตร์กับรัฐบาล “น่านแซนด์บอกซ์” เป็นเพียงกรอบความคิด ต้องมี Solution ต้องทำมาค้าขายได้ หากไปดูในห้างบิ้กซี ห้างแมคโครที่น่านในพื้นที่จำหน่ายผักผลไม้ไม่เหมือนกับ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ น่านค้าขายไม่เป็น ปลูกอะไรไม่เก่ง ต้องมีกระบวนการเรียนรู้อีกมาก เป็นโจทก์ที่ต้องแก้ไข
“จ.น่าน จน 3 อย่างคือ จนทรัพย์ จนปัญญา จนใจ สส.ช่วยไม่ได้ เอาเงินงบประมาณเข้าจังหวัดไม่ได้ ช่วยชาวบ้านไม่ได้ ไม่เหมือน จ.สุพรรณบุรี จ.บุรีรัมย์ โดยชมรมที่ท่านนำเสนอช่วยได้บ้าง แต่ไม่ใช่การช่วยด้านทำมาหากินได้ ต้องไปดูของจริง คนน่านเป็นคนเนิบๆ สบายๆ ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว”
ผมคิดว่านี่เป็นมุมมองทางด้านวัฒนธรรมในการทำงานหรือการหาอยู่หากิน (work ethic) ของคนน่านในมุมมองของคุณบัณฑูร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากวัฒนธรรมของการทำงานแบบทุนนิยม คือการทำงานหนักเพื่อหาเงิน
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจจากมุมมองของคุณบัณฑูรก็คือ เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของจังหวัดน่านว่าเพราะเหตุใดจังหวัดน่านจึงมีการพัฒนาล่าช้ากว่าจังหวัดอื่นๆ
“ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีใครอยากมาอยู่ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้นำเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมาพิจารณา จ.น่าน พื้นที่เป็นป่าเป็นดอย ทำให้ จ.น่าน เป็นจังหวัดที่ไม่ได้รับความสนใจ และต่างจากแม่ฮ่องสอน เนื่องจากน่านมีป่าต้นน้ำของประเทศซึ่งมีการตระหนักในช่วงหลัง แต่ก็ไม่ได้แก้ระบบการจัดอันดับจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ชาวบ้านไม่คาดหวังกับผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่คาดหวังกับ สส. เป็นคลื่นของวัฒนธรรม แต่เผอิญว่า จ.น่านเป็นพื้นที่ป่าสงวนต้นน้ำลุ่มน้ำชั้น 1 ที่ใหญ่ที่สุด และมีประเด็นทุนนิยม เพราะถ้าแก้เรื่องทุนนิยมไม่ได้ ก็จะสู้จังหวัดอื่นไม่ได้ ต้องอยู่รั้งท้าย”
สุดท้ายเราตกลงกันว่าจะไปสนทนาด้วยบรรยากาศที่จังหวัดน่านในวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายนศกนี้กันอีกครั้งหนึ่ง
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
5 มิถุนายน 2565