แหล่งน้ำขนาดเล็ก ‘ท่าวังผา’
การพึ่งตนเองด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ ?
‘สังศิต’ มั่นใจชาวบ้าน ท้องถิ่น บริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กได้ ขอเพียงคลายกฎระเบียบ สนับสนุนงบประมาณ กระจายการตัดสินใจ ถ่ายเทวิธีคิดการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กสู่ท้องถิ่น เชื่อ แบ่งเบาภาระ การตัดสินใจ วิธีคิดแบบรวมศูนย์ของรัฐบาล แก้ปัญหาความยากจนได้
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ช่วงเวลา 17:00 น. นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ประชุมหารือกับอนุกรรมาธิการฯ พร้อมคณะ เพื่อเตรียมการประชุมแลกเปลี่ยนให้ความรู้การสร้างฝายแกนดินซิเมนต์กับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และตัวแทนชาวบ้าน ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในวันที่ 19 มิถุนายน 2565 หลังจากที่หารือเบื้องต้นไปก่อนแล้วที่สนามบินดอนเมือง
นายสังศิต ได้เสนอหลักการ แนวคิด นโยบายต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ในประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนว่า
‘ประสบการณ์ร่วม 3 ปี ที่เราได้สัญจรทางปัญญา แสวงและค้นหาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคประชาชนและผู้รู้หลากหลาย เกี่ยวกับการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเราเชื่อว่าการมีน้ำตลอดปีเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนในภาคเกษตร ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ’
‘เราพบว่าการตัดสินใจของท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน โดยเฉพาะที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การผ่อนคลายกฎระเบียบของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงทำให้การจัดการ กัก เก็บ น้ำด้วยนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้กว่า 200 คนแห่ง ในพื้นที่กว่าสิบจังหวัดแล้ว เช่น ฝายแกนดินซีเมนต์ในลำน้ำยม จังหวัดแพร่ ฝายลำน้ำลี้ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เป็นต้น ‘
‘การเรียกร้องของผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และตัวแทนชาวบ้าน ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ที่ขอให้เรามาให้ความรู้ การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นการพิสูจน์และทำให้เราเชื่อมั่นว่า การกระจายการตัดสินใจ ถ่ายเท ให้อิสระวิธีคิดการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก สู่ท้องถิ่น จะแบ่งเบาภาระการตัดสินใจ วิธีคิดแบบรวมศูนย์ของรัฐบาล แก้ปัญหาความยากจนได้’
นายสังศิต ได้มอบหมายให้นายภัทรพล ณ หนองคาย นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ นายสุภัทรดิศ ราชธา และนายประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ อนุกรรมการฯ และที่ปรึกษา เป็นคณะให้ความรู้การสร้างฝายแกนดินซิเมนต์ กับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และตัวแทนชาวบ้านที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในวันที่ 19 มิถุนายน 2565
วันที่ 19 มิถุนายน 2565 พิกัดห้วยปู่แล้ง บ้านยู้หมู่ 5 และที่พิกัดห้วยข้าวหลาม บ้านนาฝ่า หมู่ 3 ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จ.น่าน คณะที่ได้รับมอบหมายได้ดำเนินการสรุปได้ดังนี้
นายภัทรพล ณ หนองคาย ได้รับฟังความเดือดร้อนและข้อคิดเห็นของคนในพื้นที่และการปรึกษาพร้อม
ให้ข้อแนะนำในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ระบบการกระจายน้ำ การชาร์จน้ำแบบขุดเจาะแนวคันร่อง เน้นการออกแบบที่เหมาะสมกับการใช้งบประมาณแบบประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร และการรักษาระบบนิเวศโดยรอบพื้นที่ให้คงความสมดุลให้ได้มากที่สุด
นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ เสนอแนวทางการของบประมาณของท้องถิ่นในการดำเนินการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ช่องทางการสร้างโอกาสการได้รับงบประมาณ
ด้านตัวแทน ธกส. มิตรที่ใกล้ชิดของเรา และร่วมพบปะกับพี่น้องเกษตรกรในทุกพื้นที่มาโดยตลอดได้ กล่าวถึงการสนับสนุนตามนโยบาย CSR ของ ธกส.จากโครงการแก้ไขปัญหาและการลดฝุ่นควัน ซึ่งมีงบประมาณ 100,000 บาท ขอให้ดำเนินการประชุมขอมติจาก ประชาชนในพื้นที่และทำรายละเอียดโครงการเสนอ เบื้องต้นจะนำร่องก่อน 5 พื้นที่ โดยจะประสานรายละเอียดให้ทาง ธกส.เพื่อจัดทำฝายแกนดินซีเมนต์ นำร่องเป็นตัวอย่างในพื้นที่ ต่อไป
พร้อมกันนี้ได้เสนอให้ อ.ท่าวังผา จัดตั้งคณะทำงานด้านแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการได้ง่ายขึ้น
การพบปะกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กำนันและผู้ใหญ่บ้านตลอดจนพี่น้องเกษตรกรกว่า 50 ท่านในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่อยากจะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่เรามีชีวิตที่ใกล้ชิดเช่น ธกส. จะเป็นการเสริมการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซิเมนต์ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
23 มิถุนายน 2565