‘
‘สังศิต’ ผลักดันเปลี่ยนหลักคิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้จังหวัดเล็ก รายได้น้อย ขาดแคลน และยากจน
ได้งบประมาณมากขึ้น
ระหว่างวันที่ 30 -31 สิงหาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ เสวนาเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ด้วยนวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์” ณ ห้องศูนย์ข้อมูลอำนาจเจริญ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบปัญหา แลกเปลี่ยนความเห็นและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยนวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ร่วมกับนายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ
โดยเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น ของวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ได้มีการหารือเบื้องต้นถึงสถานการณ์ด้านน้ำและความเป็นอยู่โดยทั่วไปของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ปัญหาโดยทั่วไปเป็นเรื่องน้ำท่วมซ้ำซากในหน้าฝน ปัญหาน้ำไม่พอใช้ในหน้าแล้ง ปัญหาในการบริหารจัดการเรื่องน้ำในลำเซบกและลำเซบาย ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะได้หารือกันในการเสวนาวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ต่อไป
เช้าวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 นาฬิกา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ร่วมเสวนากับข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ได้รับทราบข้อมูล ปัญหาข้อเสนอแนะ และความต้องการของจังหวัดอำนาจเจริญ จากหัวหน้าส่สนราชการหลายท่าน ดังนี้
1. จังหวัดอำนาจเจริญ) มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,975,780 ไร่ หรือ 3,161.29 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 378,000 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 56 ตำบล 607 หมู่บ้าน มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 65 ปัญหาที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญคือมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้ง( นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ)
ที่สำคัญคือมุมมองของนายมนตรี สีหมงคลสกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดอำนาจเจริญ) นำเสนอชุดข้อมูลที่น่าสนใจว่า
2. จังหวัดอำนาจเจริญมีลำน้ำที่สำคัญคือลำเซบายและลำเซบก ซึ่งทั้งจังหวัดมีพื้นที่ชลประทานที่พัฒนาแล้วประมาณแค่ 200,000 ไร่ มีความสามารถในการกักเก็บน้ำทั้งระบบชลประทานและอื่นๆ ได้แค่ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่เพียงพอในการใช้เพื่อการเกษตรในหน้าแล้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำตามไปด้วย
3. การถ่ายโอนภารกิจบางส่วนของกรมชลประทานให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดำเนินการ แต่ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมทั้งบุคลากรและงบประมาณในการบริหารจัดการ จึงทำให้เกิดปัญหา ติดตามมา เช่น ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำ ไม่มีเงินในการซ่อมแซมฝายหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ในการสูบน้ำ เป็นต้น
4. ปัญหาความเหลื่อมล้ำการจัดสรรงบประมาณ เพราะจังหวัดเล็กที่ยากจน จะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่าจังหวัดใหญ่หรือจังหวัดที่มีความเจริญมากอยู่แล้ว จึงทำให้จังหวัดเล็กๆ ที่ยากจนไม่สามารถพัฒนาสาธารณูปโภคและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ใกล้เคียงกับจังหวัดใหญ่หรือจังหวัดที่มีความเจริญมากอยู่แล้วได้ จึงอยากจะเสนอให้ช่วยผลักดันประเด็นเรื่องงบประมาณ ให้แก่จังหวัดเล็กๆเพื่อลดความเหลี่อมล้ำด้วยอีกทางหนึ่ง
5. การเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กผ่านทาง สทนช. โดยเสนอผ่านระบบ Thai Water Plan นั้น จากการเสนอโครงการผ่านช่องทางดังกล่าว เท่าที่ผ่านมายังไม่มีโครงการใดในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญได้รับการอนุมัติเลย
ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน
อีกประเด็นปัญหาหนึ่งคือการขออนุญาตหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่นจากกรมป่าไม้ ซึ่งยังเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับข้อชี้แนะแนวทางการดำเนินการต่างๆ ที่ถูกต้องต่อไป
นอกจากนี้ นายมนตรียังให้ความเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดอำนาจเจริญว่า
‘นวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่มาก ใช้ประโยชน์ได้จริง จึงควรส่งเสริมให้นำมาใช้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เพื่อรอโครงการถาวรที่ต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาในการดำเนินการ นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1) ควรมีแบบมาตรฐานของฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ และผลักดันให้เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2) ควรมีการศึกษาเพื่อสร้างโปรแกรมคำนวณตามหลักกลศาสตร์ที่จะสามารถกำหนดจุดในการสร้างฝายในแต่ละลำน้ำ เพื่อให้ได้ฝายที่มีความเหมาะสมกับสภาพต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เช่น ความแข็งแรงทนทานต่อกระแสน้ำ ความสามารถในการชะลอน้ำในฤดูฝน และความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
3) ผลักดันให้มีการส่งเสริมนวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์เพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้า
ส่วนทางด้านภาคประชาชน นายสุพรรณ สืบสิงห์ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ระดับจังหวัดอำนาจเจริญ และเครือข่ายน้ำอำนาจเจริญ ได้นำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ สรุปได้ว่า
จังหวัดอำนาเจริญมีลำน้ำที่สำคัญคือลำเซบก และลำเซบาย ซึ่งเขตพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญประสบปัญหาในการกักเก็บไว้ใช้ไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง แต่ในช่วงหน้าฝนมักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำเอ่อท่วมขัง โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างของจังหวัด ซึ่งได้มีความพยายามในการขุดลอกเอาฝายดินเก่าที่สร้างกีดขวางทางน้ำออก
ในส่วนของการกักเก็บน้ำได้มีโครงการขุดลอกเพื่อสร้างแก้มลิงห้วยละแอน เพื่อกักเก็บน้ำจากลำน้ำโขง เขตอำเภอชานุมาน โดยจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ส่งน้ำไปยังพื้นที่อำเภอใกล้เคียง
นายบัญชา รุ่งรจนา ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้อำนาจเจริญ ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า ประเด็นการขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งได้กำหนดนิยามว่า
“ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงทำให้พื้นที่ที่ไม่มีผู้ใดถือกรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดินถือว่าเป็นป่าทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้มีสภาพเป็นป่าไม้ที่แท้จริง แต่มีสถานะเป็นป่าโดยกฎหมาย และการที่หน่วยงานใดจะขอใช้พื้นที่จะต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะดำเนินการได้
ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ควรมีการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการเองได้ เพราะกรณีที่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่เกิน 20 ไร่ เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่และระดับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ จะต้องส่งให้กรมป่าไม้ในส่วนกลางเป็นผู้พิจารณา จึงทำให้เกิดความล่าช้าได้
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้กล่าวขอบคุณผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ และได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า งานของคณะกรรมาธิการมีหลายด้าน ด้านที่สำคัญประการหนึ่งคือการหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรได้ใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อทำการเกษตรให้ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
‘ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำฝน เพียงแต่ขาดความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือการทำและจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น นวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับขนาดลำน้ำได้ ใช้งบประมาณไม่มาก ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างไม่นาน และเห็นผลในทันที
เพราะถ้าใช้หลักคิดเดิมคือรอโครงการที่เกี่ยวกับการทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่นั้น อาจจะต้องรอคอยเป็นระยะเวลาหลายปี อีกทั้งจังหวัดอำนาจเจริญยังมีภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กน่าจะประสบความสำเร็จได้ด้วยดี’
’ปัญหาการจัดหาน้ำให้เพียงพอเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรก จังหวัดอำนาจเจริญ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนาเป็นหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สาคัญ มีพื้นที่ปลูก 1,062,141 ไร่ เกษตรกร 75,427 ราย แต่มี
พื้นที่ได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพียง 80,511 ไร่ (ข้อมูลแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561 – 2565) (องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ กองแผนและงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ)
การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำโดยทำฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งใช้งบประมาณน้อย สามารถกักเก็บเพื่อใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง กระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร’
นายสังศิต ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาศึกษาประเด็นดังกล่าวเพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนหลักคิดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้จังหวัดที่มีรายได้น้อย ขาดแคลน และยากจน ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกๆ ด้านให้ใกล้เคียงกับจังหวัดที่มีความเจริญและมีรายได้มาก
‘จังหวัดอำนาจเจริญมีศักยภาพในการพัฒนาสูง ถ้าสามารถหาจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวได้ เช่น การทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อให้มีข้าวปลาอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ด้วยการเดินป่าศึกษาธรรมชาติเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานในชีวิตประจำวัน การปลูกดอกไม้หรือต้นไม้ที่มีดอก มีกลิ่นหอมและสวยงาม เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูป เป็นต้น’
จากนั้น นายภัทรพล ณ หนองคาย อนุกรรมาธิการ ได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ด้วยนวัตกรรมฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ และมีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการให้ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น เช่น แนวทางการขออนุญาตใช้พื้นที่ วิธีการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ รวมทั้งเอกสารแนวทางและวิธีการในการกรอกข้อมูลเพื่อเสนอขอโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กผ่านระบบ Thai Water Plan
จังหวัดอำนาจเจริญไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศที่มีปริมาณน้ำฝนเกินความต้องการที่จะใช้ในการผลิตและการอุปโภคบริโภค แต่เพราะว่าขาดหลักคิดในการกักเก็บน้ำเท่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหาความสามารถในการผลิตได้น้อย เกษตรกรไม่มีงานทำในหน้าแล้ง หากแก้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องแรกให้ตกไปได้ ปัญหาอื่นๆ ที่เหลือก็จะสามารถแก้ได้ไม่ยากนัก
ผมหวังว่าเราจะกลับมาที่จังหวัดอำนาจเจริญอีกครั้งในไม่ช้า
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
6 กันยายน 2565