การแก้ปัญหาน้ำให้พี่น้องเกษตรกรมุกดาหาร
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตจังหวัดมุกดาหาร
สืบเนื่องจากการร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากับคณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่มีท่านพลโท จเรศักดิ์ อานุภาพ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และการอุปโภคบริโภค ซึ่งตรงกับกรอบภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ผมจึงได้รับไม้ต่อโดยนำประเด็นปัญหาดังกล่าวมาติดตามการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการจึงได้ลงพื้นที่ในวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565 เวลา 09:00 น. ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร เพื่อติดตามและหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้แก่เกษตรกรตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมาในระหว่างปี 2562- 2565
การประชุมในวันนี้มีท่านนายกองค์การบริหารจังหวัดมุกดาหาร พ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. คุณเอกพงศ์ น้อยสร้าง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 นายวิเชียร เปมานุกรณ์รักษ์ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายพันธ์ุชัย วัฒนะชัย และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชนศววรตน์ ธนศุภรณ์พงษ์ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้ร้องเรียน ได้ร่วมกันปรึกษาหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ร้องเรียน
จากจำนวนข้อร้องเรียนทั้งหมด 16 ข้อ ของเกษตรกร ผมได้ดำเนินการประชุมและได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้คือ
1. ขอให้ขุดลอกห้วยบังอี่ตอนบน ต.โนนยาง อ.หนองสูง
พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ซึ่งจะมีการประสานทางกรมชลประทานว่าจะดำเนินการอย่างไร หรือให้หน่วยงานอื่น เช่น อบจ. ดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
2. ขอให้ช่วยติดตามงบประมาณของ อปท. เพื่อซ่อมแซมฝายน้ำล้นห้วยบังอี่ตอนกลาง ของเทศบาลตำบลหนองสูงเหนือที่ทำเรื่องถึงท้องถิ่นจังหวัดมุกดาหารแล้ว แต่ไม่ทราบความคืบหน้า
มอบให้อาจารย์สุภัทรดิศ ราชธา ช่วยดูว่าจะซ่อมแซมได้หรือไม่ ความเสียหายมีรูปแบบหรือระดับใด เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายและแนวทางในการซ่อมแซมต่อไป
3. ขอเพิ่มสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าด้วยระบบแรงดันให้ประชาชนพื้นที่บ้านนาโพธิ์หมู่ที่ 5 และ 6
กรมชลประทานจะได้งบประมาณมาดำเนินการในปี 2566 ประชาชนพอใจ
4. ของบก่อสร้างประปาหอถังสูงในชุมชนริมโขง ต.นาโพธิ์ อ.ดอนตาล
นายก อบจ. รับจะหางบประมาณในปี 2566 มาดำเนินการให้
5. หมู่ 5 และ 6 ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล ขอเจาะบาดาลด้วยระบบโซล่าเซลล์ และขอให้โครงการประตูระบายน้ำห้วยบังอี่มีระบบส่งน้ำที่ทั่วถึงพื้นที่เกษตร
กรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ส่วนเรื่องขุดเจาะบาดาลด้วยระบบโซล่าเซลล์นั้น ท่านนายก อบจ. รับไปดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป
6. ของบซ่อมแซมฝายน้ำล้นห้วยบังอี่ตอนกลาง
ผู้ร้องเรียนไม่มา
7. ขอให้สนับสนุนงบประมาณและเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคันแทใหญ่
กรมชลประทานอยู่ในระหว่างดำเนินการ ประชาชนพอใจ
8. ขอให้สร้างฝายน้ำล้นหรือคันกั้นน้ำในลำห้วยคันแท
กรมชลประทานเข้ามาดำเนินการวัดระดับน้ำเพื่อเขียนแบบแล้ว ประชาชนพอใจ
9. ขอให้ขุดลอกลำห้วยตอนบนและตอนล่างและขอทราบแผนการส่งน้ำของสถานีสูบน้ำหมู่ที่ 12
ผู้ร้องเรียนไม่มา
10. ต้องการท่อส่งน้ำเพื่อสูบน้ำต่อจากหอถังสูง
นายก อบจ.รับไปดำเนินการโดยให้นายช่างของ อบจ. ออกไปสำรวจพื้นที่และปริมาณความต้องการใช้น้ำเพื่อวางแผนดำเนินการต่อไป
11. ต้องการเพิ่มฝายกักเก็บน้ำ 2-3 ตัว และประตูเปิดปิดน้ำในลำห้วยมุก
กรมชลประทานแจ้งว่าจะดำเนินการในปี 2566 ประชาชนพอใจ
12. ต้องการสร้างคลองส่งน้ำให้กับพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่หมู่ 2 ตำบลชะโนดน้อย อำเภอดงหลวง ต้องการขยายคลองไส้ไก่และทำระบบท่อเพื่อดันน้ำให้ทั่วหมู่บ้าน
กรมทรัพยากรน้ำสามารถสนับสนุนเรื่องการสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ได้ กรณีดังกล่าวจะประสานการดำเนินงาน กับทางกรมชลประทานต่อไป
13. ไม่มีระบบชลประทานในพื้นที่ เคยเสนอให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ทางชลประทานแจ้งว่าไม่คุ้มค่าในการก่อสร้าง
นายก อบจ. จะให้กองช่างลงไปสำรวจพื้นที่ว่ามีแหล่งน้ำใดในพื้นที่ที่จะใช้วิธีอื่น เช่น การขุดแก้มลิงหรือขุดลอกหนองน้ำ หรือสร้างฝายกักเก็บน้ำได้หรือไม่
14. ขอให้พัฒนาถนนคลองซอยของคลองชลประทาน
ประเด็นดังกล่าวได้มีการเสนอให้ทำถนนแบบซอยด์ซีเมนต์ ซึ่งใช้ดินผสมกับปูนซีเมนต์ ซึ่งทาง อบจ. และชลประทาน จะหารือแนวทางในการดำเนินการต่อไป
15. ตำบลกกตูมจำนวน 16 หมู่บ้าน จำนวนประชากรประมาณ 10,000 คนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
พื้นที่ดังกล่าวมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงกว่าอ่างเก็บน้ำประมาณ 50-60 เมตร จึงต้องการระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ประเด็นดังกล่าว ได้หารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างกว้างขวาง สรุปได้ว่าการใช้ไฟฟ้าสูบน้ำต้องเสียค่าไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ไม่คุ้มทุน ท้ายที่สุดจึงได้มีการเสนอให้สำรวจลำน้ำในบริเวณดังกล่าว เพื่อจัดทำฝายแกนดินซีเมนต์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นระยะ แล้วจึงใช้ระบบการสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์มาติดตั้งเพื่อให้สามารถสูบน้ำต่อเนื่องในระระต่าง ๆ จนถึงจุดที่ประชาชนอยู่อาศัยได้ จึงได้มอบหมายให้กองช่างของ อบจ. และอาจารย์สุภัทรดิศ ราชทา ไปสำรวจและรายงานต่อท่านนายก อบจ. ว่าจะสามารถสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ได้หรือไม่ และสร้างได้ตรงจุดใดบ้าง
16. ขอให้แก้ไขความแห้งแล้งในพื้นที่บ้านหนองหนาว
เป็นเรื่องเดียวกันกับข้อร้องเรียนข้อ 12 ซึ่งได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาแล้ว
เพื่อให้สามารถติดตามผลการดำเนินการได้อย่างใกล้ชิด ผมได้เสนอให้จัดตั้งกลุ่ม LINE ในเรื่องนี้ขึ้นโดยเฉพาะ ระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบกับเกษตรกรผู้ร้องเรียนซึ่งได้จัดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วในวันนี้
สวัสดีครับ… จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
คณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
11 มิถุนายน 2565