ในทุกช่วงเทศกาลตรุษจีน จะมีธรรมเนียมการเซ่นไหว้บวงสรวงบรรพบุรุษ ของชาวไทยเชื้อสายจีนทุกครอบครัว และสิ่งหนึ่งซึ่งเราจะพบเห็นแทบทุกบ้านคือ ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการี ที่ตั้งอยู่บนหิ้งสำหรับบูชาประจำบ้าน และโต๊ะหมู่ที่เต็มไปด้วยอาหารคาวหวานมากมาย
คนจีนเรียกประเพณีนี้ว่า “การแต้มป้ายชื่อ” เป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดมาแต่อดีต เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี และแสดงถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ อันจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติต่อไปในภายภาคหน้า อีกทั้งยังถือเป็นการพบปะสังสรรค์ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวกันในหมู่ญาติพี่น้องอีกด้วย
ธรรมเนียมอันดีงามนี้เอง ได้กลายเป็นที่มาของพระราชพิธีสำคัญอย่าง “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย”
นับแต่อดีต ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามได้รับอิทธิพลทางด้านประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่างมาจากจีน หนึ่งในนั้นคือประเพณี “การแต้มป้ายชื่อ” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย” ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระองค์ทรงเห็นว่า การแต้มป้าย เป็นธรรมเนียมของชนชาติจีน ผู้ซึ่งนับถือบรรพบุรุษเป็นที่พึ่ง การเคารพบูชาบรรพบุรุษนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ซึ่งจะส่งผลนำความเจริญมาสู่ตัวผู้ปฏิบัติได้จริง
“พระราชพิธีสังเวยพระป้าย” ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความพิเศษขึ้นในรัชกาลต่อๆ มา และเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน เป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี และแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงาม ที่ในหลวง ร.10 ได้ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตลอดมา
พระราชพิธีสังเวยพระป้าย มีจุดเริ่มต้นจากไหน และ “พระป้าย” สำหรับประกอบพระราชพิธีนี้มีความพิเศษอย่างไร