เนื่องจากหากพิจารณาในแง่จำนวนมวลชนแล้ว “กลุ่มทะลุแก๊ส” นับว่าอ่อนกำลังลงมาก ภาพการชุมนุมแบบเป็นกลุ่มก้อนอลังการของทะลุแก๊สจึงไม่มีให้เห็น จะมีบ้างก็แค่การรวมกลุ่มกันประปราย และรวมตัวในระยะเวลาสั้นๆ แม้แต่เหตุเผารถตำรวจบริเวณหน้าแฟลต 1 ดินแดง ในคืนวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมาก็มีผู้ชุมนุมบางตา เพราะมีปัจจัยกดดันหลายประการ ล่าสุดแม้เพจ “ทะลุแก๊ซ-Thalugaz” จะคึกคักขึ้นมาบ้างหลังผู้ชุมนุมย่ามใจที่สามารถเผารถ คฟ. ได้ง่ายดายผิดปกติ แต่ก่อนหน้านี้แค่ 1 วัน แอมมินเพจก็ได้ส่งสัญญาณสลายตัว
“ กลับไปร่วมขบวน ตั้งตัวกันใหม่ สร้างความชอบธรรมใหม่ครับสหาย แล้วก็จัดตั้งเป็นขบวนการอะไรก็ว่ากันไป เพราะ “ทะลุแก๊ซ” มันเป็นแค่ชื่อปฏิบัติการ ไม่ใช่กลุ่ม ยุทธศาสตร์ในการจัดตั้งสำคัญกว่าอัตตลักษณ์แบบ “Radical” (หัวรุนแรง) นะครับสหาย เพราะมันจะสร้างอำนาจให้กับพวกเรามากขึ้น การกระจายกันไม่รวมกลุ่มช่วยเหลือกัน มันไปไม่รอดนะครับ ” แอดมินเพจทะลุแก๊พสต์ซ-Thalugazโพสต์ข้อความ
ขณะที่บรรดาเพจตระกูลทะลุแก๊สอื่นๆก็ดูจะเงียบๆไป ไม่ว่าจะเป็น เพจ“เยาวรุ่นทะลุแก๊ส” ที่เน้นโพสต์ขายเสื้อมากกว่าจะรายการการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊สเหมือนเช่นที่ผ่านมา หรือ เพจ“ทะลุแก๊ส” ที่หยุดโพสต์ไปตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2564 ส่วน เพจ “ทะลุแก๊ซ-Thalugaz” และ เพจ“ทะลุแก๊ส-Thalugaz โพสต์ ต่างก็เชิญชวนให้ชาวทะลุแก๊สไปรวมกับกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ซึ่งนัดหมายชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง
อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตาอย่างยิงคือ ล่าสุด เพจ“ทะลุแก๊ซ-Thalugaz”ได้แจ้งให้มวลชนทำระเบิดที่เรียกว่า “molotov cocktail” โดยระบุรายละเอียดของส่วนประกอบและวิธีทำไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมวลชนต่างก็ขานรับและพร้อมปฏิบัติการ ซึ่งน่าจะเป็นการเตรียมระดมอาวุธเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ ทดแทนจำนวนมวลชนที่หดหาย อีกทั้งในขณะนี้เส้นทางการขนส่งอาวุธจากกลุ่มผู้สนับสนุนก็กำลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามสกัดและไล่ล่า
เตรียมกวาดจับอีกเพียบ
ทั้งนี้การที่มวลชนทะลุแก๊สร่อยหรอลงอย่างเห็นได้ชัดนั้นสาเหตุแรกน่าจะมาจากความเข้มข้นในการจับกุมผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุรุนแรง โดยข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งสิ้น 234 คดี มีผู้ต้องหาทั้งหมด 869 คน โดยติดตามจับกุมตัวได้แล้ว 624 คน และในกรณีที่มีการกระทำผิดซ้ำพนักงานสอบสวนก็จะขอคัดค้านการประกันตัว ดังนั้นแม้ในโลกออนไลน์จะส่งเสียงชื่นชมคนที่เผาทรัพย์สินทางราชการและทำร้ายเจ้าหน้าที่ว่าคือเหล่าผู้กล้า แต่ในชีวิตจริงนั้นการถูกดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องสนุก ยิ่งเป็นคดีอาญาซึ่งมีโทษจำคุกรออยู่ข้างหน้าก็ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในการชุมนุม โดยขณะนี้ บช.น.กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งผลิตและขายอาวุธให้แก่ผู้ชุมนุมทะลุแก๊สเพื่อใช้ในการก่อเหตุ รวมถึงนายทุนหรือผู้ที่สนับสนุนอาวุธดังกล่าวให้แก่ผู้ชุมนุมด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ต้องรอให้มีการออกหมายจับก่อน
ในส่วนของผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส รวมถึงกลุ่มอื่นๆนั้น หากมีการกระทำผิดทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุรุนแรงและทำผิดกฎหมายไปไม่น้อย อีกทั้งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมหลักฐานที่ได้จากกล้อง CCTV และอุปกรณ์อื่นๆเพื่อใช้ในการติดตามจับกุมผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุในแต่ละวันอีกด้วย
“ทุกวันที่ออกมาก่อเหตุ เรามีการบันทึกภาพไว้หมด เราจะทำการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลและทยอยดำเนินคดี ซึ่งคนที่ไม่ได้ถูกจับกุมขณะก่อเหตุก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอด ซึ่งผู้ที่กระทำผิด 1 ครั้ง ก็เป็น 1 กรรม 1 วาระ วันที่ 1 กระทำผิดก็เป็น 1 คดี ออกมาก่อเหตุ 10 วันก็เป็น 10 คดี ” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
ขาดแคลนเงินประกัน
แน่นอนว่าเมื่อเป็นคดีความและผู้ชุมนุมตกเป็นผู้ต้องหา ก็ต้องมีการประกันตัวสู้คดี แต่การก่อเหตุของกลุ่มทะลุแก๊สนั้นต่างไปจากการชุมนุมทั่วไป เพราะมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่และเผาทำลายทรัพย์สินทางราชการซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาที่มีโทษหนัก ทั้งนักการเมืองและนักวิชาการที่สนับสนุนม็อบซึ่งเรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตยต่างก็ไม่มีใครกล้าออกหน้ามาช่วยประกันตัว เพราะนั่นเท่ากับประกาศว่าตนเองสนับสนุนการก่อเหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมือง
ซึ่งเงินประกันหลักๆที่ม็อบแต่ละกลุ่มพึ่งพากันอยู่ตอนนี้ก็คือเงินจาก “กองทุนราษฎรประสงค์” ที่เปิดรับบริจาคภายใต้ชื่อผู้เปิดบัญชีร่วม 2 คน คือ น.ส.ชลิตา ปัณฑุวงศ์ และ น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการประกันตัวผู้ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝั่งประชาธิปไตย โดยมีหลักเกณฑ์ว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการ กองทุนจะต้องมีเงินสำรองอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ล้าน ซึ่งสังเกตได้ว่าในช่วงเดือน ก.ย. ทางเพจ“กองทุนราษฎรประสงค์” ได้ออกมาแสดงความวิตกหลายครั้งเกี่ยวกับเงินกองทุนที่ลดลงอย่างมากและใกล้แตะวงเงินสำรอง เนื่องจากมีคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมจำนวนมากที่ต้องใช้เงินประกันตัว พร้อมทั้งขอให้มวลชนเร่งบริจาคเพิ่มเติมเพื่อเป็นหลักประกันในการช่วยเหลือผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้มีมวลชนบางส่วนเริ่มไม่พอใจกลุ่มทะแก๊สและกลุ่มทะลุฟ้าที่ขยันหาคดี จนถึงกับออกมาบ่นว่า “โดนจับรายวันแบบนี้ เหนื่อยที่จะระดมทุน หาเงินไปช่วยประกันตัว”
แน่นอนว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ไม่ใช่ทุกคดีที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะในการพิจารณายื่นขอประกันตัวทางกองทุนย่อมจำเป็นต้องเลือกช่วยเหลือตามลำดับความสำคัญในการเคลื่อนไหว หากเป็นแกนนำคนสำคัญก็ต้องได้รับการประกันตัวก่อน อีกทั้งเมื่อที่มาของ “กองทุนราษฎรประสงค์” เกิดจากการรวมกันของ “กองทุนประกันตัวคดีทางการเมือง” ที่ดูแลโดย น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งเป็นหนังสือในเครือฟ้าเดียว และ นายอานนท์ นำภา ทนายความที่แนวคิดในการปฏิรูปสถาบัน อีกทั้งเคยว่าความให้กับกลุ่ม นปช. จนได้รับฉายาว่าทนายเสื้อแดง และ “กองทุนคดีคนอยากเลือกตั้ง” ที่ดูแลโดย น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการสายเสื้อแดง และหนึ่งในแกนนำคนอยากเลือกตั้งก็คือ นายอานนท์ นำภา ดังนั้นผู้ดูแลกองทุน“กองทุนราษฎรประสงค์” จึงมีความสนิทสนมกับ “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่มี เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นแกนนำ เพราะมีแนวคิดในการปฏิรูปสถาบันเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่หากต้องเลือกระหว่างคดีของสายธรรมศาสตร์กับคดีของม็อบสายตีอย่าง“กลุ่มทะลุแก๊ส” ทางกองทุนก็ต้องเลือกประกันตัวให้สายธรรมศาสตร์ก่อน
หลังๆจึงมีเสียงบ่นจากมวลชนทะลุแก๊สว่า “ให้ไปดูแลเด็กๆที่ถูกจับบ้าง เพราะน้องๆไม่ใช่คนเด่นคนดัง มาม็อบด้วยใจแต่พอโดนจับกลับเงียบกริบ” หรือแม้แต่“เอกชัย หงส์กังวาน” ยังโพสต์ตัดพ้อผ่านfacebook ส่วนตัวว่า “อย่าให้เสียงของความเงียบ ดังจนกลบเสียงของคนที่อยู่ในเรือนจำ” ดังนั้นเมื่อกลุ่มทะลุแก๊สเห็นว่าหากถูกจับกุมดำเนินคดีอาจไม่มีใครช่วยเหลือ ความห้าวละความกล้าในการออกมารวมตัวก่อเหตุรุนแรงจึงลดลง
ชาวดินแดงเริ่มแอนตี้
อีกกระเด็นที่ทำให้มวลชน“ทะลุแก๊ส”ต้องถอยก็คือเสียงสะท้อนจากประชาชนที่อยู่ย่านดินแดง ซึ่งเริ่มอออกมาแสดงความไม่พอใจเพราะทนไม่ได้กับเสียงดังสนั่นหวั่นไหวในทุกค่ำคืน ไม่ว่าจะเป็นเสียงพลุประทัดยักษ์ เสียงระเบิด หรือการยิงปะทะกัน รวมทั้งควันจากแก๊สน้ำตาและการเผาในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ชาวแฟลตดินแดงบางส่วนแอนตี้ม็อบทะลุแก๊สและหันไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้กระทั่งกลุ่ม iLaw ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวร่วมสายประชาธิปไตย ยังต้องออกมาเตือนสติกลุ่มทะลุแก๊สให้เลิกกระทำการที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน พร้อมทั้งนำเสียงสะท้อนของชาวดินแดงที่มีถึงผู้ชุมนุมมาโพสต์ในเพจ iLaw อาทิ
“คอนโดผมค่อนข้างใกล้กับพื้นที่การชุมนุม พอมันมีเสียงดัง คอนโดผมได้รับผลกระทบหนักจากเสียง พอมีเหตุปะทะอะไรเสียงมันก็ดังไปทั่ว แล้วเสียงดังมันคาดเดาเวลาไม่ได้ บางทีตีหนึ่ง ตีสอง”
“ตั้งแต่มีการปะทะกัน สิ่งที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงไป คือ ช่วงแรกจะไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ประทัดเลยถ้าตำรวจไม่เข้ามาในพื้นที่ แต่หลังๆ ผู้ชุมนุมใช้ตลอดเลย มันเหมือนกับเขาอยากให้ตำรวจออกมา ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำทำไม”
“ผมก็ยังไม่เข้าใจว่า พวกเขา(ผู้ชุมนุมดินแดง)กำลังทำอะไร สำหรับผม มันเป็นการชุมนุมที่ไม่เห็นประเด็นข้อเรียกร้อง มันเหมือนการชุมนุมที่อยากออกมาต่อสู้กับตำรวจ มองไปกี่ครั้งก็เห็นมีแต่การจุดไฟ เผานู่น เผานี่ หรือบางครั้งก็มีเด็กขับมอเตอร์ไซด์มาจุดประทัดปังๆๆ มันทำให้ผมสงสัยว่า สุดท้ายแล้วพวกเขาต้องการอะไร”
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้“กลุ่มทะลุแก๊ส”จำเป็นต้องลดบทบาท และไม่อาจนัดชุมนุมใหญ่เพียงลำพัง โดยหันมาฝังตัวร่วมชุมนุมกับ“กลุ่มทะลุฟ้า”ซึ่งมีท่าทีที่ซอฟท์กว่า แต่ก็อย่าลืมว่าความแตกต่างของสรภูมินางเลิ้งก็คือ “มวลชนคนนางเลิ้ง” ซึ่งแนวคิดทางการเมืองนั้นแตกต่างจากชาวดินแดงโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการจะก่อเหตุรุนแรงย่านนางเลิ้ง หรือใช้ระเบิดขวดเพื่อตอบโต้ คฟ. จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง !