เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สั่งหยุดโยกงบบัตรทอง ! อนุทินรับปากนายก ยอมถอย

#สั่งหยุดโยกงบบัตรทอง ! อนุทินรับปากนายก ยอมถอย

24 April 2020
1376   0

นายอนุทิน ชาญวีรกูลกระทรวงสาธารณสุข
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ต่อสายตรงถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนการโอนงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าเป็นงบกลาง

Bbc – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับปากกับตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพว่าจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการโอนงบประมาณ 2,400 ล้านบาทของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “งบบัตรทอง” และงบประมาณของ สธ.อีกกว่า 1,000 ล้านบาท เข้างบกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัย

นักกิจกรรมด้านสาธารณสุขในนาม “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม เดินทางเข้าพบนายอนุทินช่วงบ่ายวันนี้ (24 เม.ย.) เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านการโอนงบประมาณด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพเข้าเป็นงบกลางเพื่อรับมือกับโรคระบาดและภัยพิบัติ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง 49 ล้านคน

โควิด-19 : “อนุทิน” พบกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเคลียร์ปม “โอนงบบัตรทอง” เข้างบกลาง

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูลกระทรวงสาธารณสุข
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ต่อสายตรงถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนการโอนงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าเป็นงบกลาง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับปากกับตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพว่าจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการโอนงบประมาณ 2,400 ล้านบาทของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “งบบัตรทอง” และงบประมาณของ สธ.อีกกว่า 1,000 ล้านบาท เข้างบกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัย

นักกิจกรรมด้านสาธารณสุขในนาม “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม เดินทางเข้าพบนายอนุทินช่วงบ่ายวันนี้ (24 เม.ย.) เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านการโอนงบประมาณด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพเข้าเป็นงบกลางเพื่อรับมือกับโรคระบาดและภัยพิบัติ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง 49 ล้านคน

“นายอนุทินเห็นด้วยว่าไม่ควรตัดงบบัตรทอง และรับปากกับพวกเราว่าจะเสนอนายกฯ ให้ทบทวนการโอนงบประมาณส่วนนี้” นายนิมิตร์บอกกับบีบีซีไทยภายหลังเข้าพบนายอนุทิน

“รัฐมนตรี (อนุทิน) โทรศัพท์กลับมาบอกผมว่าได้คุยกับนายกฯ แล้ว และนายกฯ เห็นด้วยที่จะไม่โอนงบประมาณบัตรทองเข้างบกลาง แต่เราก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะเป็นตามนั้นหรือเปล่า” นายนิมิตร์กล่าว

บีบีซีไทยพยายามติดต่อนายอนุทินเพื่อขอคำยืนยันในเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

โรงพยาบาลThai News Pix
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุว่าการตัดงบประมาณบัตรทองจะกระทบต่อการรักษาพยาบาลผู้ใช้สิทธิ 49 ล้านคน

แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพบอกด้วยว่า นายอนุทินรับปากว่า จะไม่มีการตัดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสำหรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพซึ่งตั้งไว้ที่ 3,600 บาทต่อคนต่อปีในปี 2563 นี้

นายนิมิตร์กล่าวว่าการโอนงบประมาณของส่วนราชการมาเป็นงบกลางเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น “ต้องไม่แตะต้องงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19”

นายนิมิตร์บอกว่าการหารือกับนายอนุทินในวันนี้มี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.เข้าร่วมด้วย ซึ่งผู้บริหาร สธ.ต่างก็เห็นตรงกันว่างบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ควรถูกดึงกลับเข้างบกลาง แต่เขาก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า หากผู้บริหาร สธ.ไม่เห็นด้วยแล้ว เหตุใดในร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ… จึงระบุว่าจะมีการโอนงบบัตรทอง 2,400 ล้านบาทมาเป็นงบเยียวยาผลกระทบโควิด-19

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการและโฆษก สปสช. ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐทีวีว่า เขาเองก็เพิ่งจะรู้ว่ามีการตัดงบประมาณจำนวนนี้ไปหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติเรื่องการโอนงบประมาณไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย.

จุดเริ่มต้นโอนงบฯ แสนล้านเข้างบกลาง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 21 เม.ย.เห็นชอบการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของหน่วยงานต่าง ๆ รวมวงเงิน 100,395 ล้านบาท ไปตั้งเป็นงบกลางและเงินสำรองจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งภัยพิบัติ ภัยแล้งและอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น และมอบหมายให้สำนักงบประมาณไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. และรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำเนียบรัฐบาล
รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตัดสินใจใช้วิธีให้หน่วยงานต่าง ๆ โอนคืนงบประมาณบางส่วนกลับมาเพื่อใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ในเว็บไซต์รับฟังความคิดร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ สำนักงบประมาณอธิบายถึง “สภาพปัญหา” ที่ทำให้ต้องมีการโอนงบประมาณของแต่ละหน่วยงานมาเป็นงบกลางว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขยายวงกว้างและมีแนวโน้มว่าจะต่อเนื่องยาวนาน “ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2563 งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นที่ตั้งไว้จํานวน 96,000 ล้านบาท มีไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ” จึงมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นเพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับจัดสรรตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 บางส่วนไปตั้งเป็นงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุอื่น เช่น ภัยพิบัติ ภัยแล้ง และอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 5 พ.ค. และคาดว่าในวันที่ 10 มิ.ย. สำนักเลขาธิการ ครม.จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ปฏิทินการโอนงบประมาณรายจ่าย
วันที่ การดำเนินการ
21 เม.ย. ครม.เห็นชอบการโอนงบประมาณและให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น
21 เม.ย.-5 พ.ค. สำนักงบประมาณดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ….
12 พ.ค. ครม.รับทราบผลการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ
13-15 พ.ค. สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณและเอกสารประกอบ
19 พ.ค. ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณและเอกสารประกอบ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร
28 พ.ค. สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณวาระที่ 1,2 และ 3
2 มิ.ย. วุฒิสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ
10 มิ.ย. สำนักเลขาธิการ ครม. นำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ที่มา: สำนักงบประมาณ

Thai News Pix

5 อันดับกระทรวงที่โอนงบฯ คืนมากสุด

(หน่วย: ล้านบาท)

  • 1. กระทรวงการคลัง 36,100

  • 2. กระทรวงกลาโหม18,082

  • 3. กระทรวงคมนาคม 11,165

  • 4. กระทรวงมหาดไทย6,340

  • 5. กระทรวงศึกษาธิการ5,045

ที่มา : สำนักงบประมาณ

คัดค้านการโอนงบ “บัตรทอง”

ในบรรดางบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่ละกระทรวงและหน่วยงานที่รับผิดชอบโอนเข้ามาเป็นงบกลางฯ เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 นั้น มีตั้งแต่หลักล้านจนถึงหมื่นล้าน แต่งบประมาณก้อนที่กลายเป็นประเด็นขึ้นมาคือ งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “งบบัตรทอง” และงบประมาณของ สธ.

ตามเอกสารร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ที่สำนักงบประมาณเผยแพร่นั้นจะมีการโอน ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ “งบบัตรทอง” จำนวน 2,400 ล้านบาท และงบประมาณของ สธ.อีก 1,132 ล้านบาทเข้างบกลาง

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยบอกว่าการตัดงบสาธารณสุขและบัตรทองนี้เป็นความ “เพี้ยน” ของรัฐบาล

“หลักการง่าย ๆ ของรัฐบาลก็คือ ตัดงบกันถ้วนหน้า ทุกกระทรวงต้องหั่นงบมาลงขันตามเปอร์เซ็นต์ที่ไม่รู้ใครกำหนด ประมาณว่า รมต.เจ้ากระทรวงหรือปลัดกระทรวงก็จำใจต้องทำตาม ไม่อาจมีปากเสียงได้ ราวกับเรายังอยู่ในยุค คสช.” นพ.สุภัทรโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.)

ผอ.รพ.จะนะซึ่งทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานกล่าวว่า ตลอดสามเดือนนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลต่าง ๆ แทบไม่เคยได้รับงบประมาณที่เป็นตัวเงินจากรัฐบาลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้เลย เกือบทุกแห่งต้องเปิดรับบริจาคจากประชาชน

ภาพในโรงพยาบาลReuters
โรงพยาบาลต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในหลายด้านเพื่อการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโควิด-19

“ในช่วงโควิด รายจ่ายสำคัญของทุกโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นคือ รายจ่ายในการปรับปรุงปรับเปลี่ยนสถานที่ให้รับกับสถานการณ์โควิด ตัวอย่างเช่นที่โรงพยาบาลจะนะ เราเพิ่มจุดคัดกรอง เราปรับปรุงหอพักแพทย์ให้เป็นหอผู้ป่วยโควิดขนาด 20 เตียง เราต้องจัดอัตรากำลังมาสอบสวนโรคทุกวันซึ่งต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม เราจัดยาโรคเรื้อรังส่งตรงไปที่บ้านผู้ป่วยกว่า 5,000 คน ซื้อครุภัณฑ์การแพทย์เพิ่ม ลงทุนกั้นห้องแบ่งส่วนเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ต้องปรับปรุงห้องฉุกเฉิน ต้องสนับสนุนงบแก่ รพ.สต. เป็นต้น” เขาย้ำว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลเลย

“กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลเกือบ 1,000 แห่ง รพ.สต.อีก 10,000 แห่ง ทุกแห่งทำงานเต็มที่สู้ศึกโควิด ทุกแห่งควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม แต่นี่ไม่เคยให้งบเราแล้วยังมาตัดงบเราอีก วิธีคิดแช่นนี้ “สอบตกโดยสิ้นเชิง” นพ.สุภัทรระบุ

งบประมาณจากกองทุนและเงินหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่จะถูกโอนเข้าเป็นงบกลาง
ชื่อกองทุน/แผนงาน จำนวน (ล้านบาท)
ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2,400
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 200.54
เงินทุนประกอบอาชีพและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ 10.5
งบให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายของกองทุนยุติธรรม 5.18
โครงการปฏิบัติงานด้านเด็กแก่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน 4.5
กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1.32
รวม 2,622

ที่มา: สำนักงบประมาณ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกโรง

ถัดจากการเปิดหน้าชนของ นพ.สุภัทร กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคมที่ผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการตัดงบบัตรทองและงบสาธารณสุข ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สธ.

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพให้เหตุผลที่คัดค้านไว้ 2 ข้อ คือ

1.งบบัตรทอง 2,400 ล้านบาทเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 49 ล้านคน ถือเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวตามสิทธิพื้นฐานจากการบริการของรัฐที่ไม่อาจนำไปโอนคืนเป็นงบกลางภายใต้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายได้

2.การโอนงบประมาณของ สธ. ซึ่งในจำนวนนี้มีงบประมาณ 938.4 ล้านบาทที่เป็นงบลงทุนซ่อม-สร้างอาคาร ห้องพักผู้ป่วย ห้องพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งหากดึงงบประมาณส่วนนี้ไป ย่อมส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศและคุณภาพในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยรวม

“หากงบประมาณด้านรักษาพยาบาลถูกปรับลดลง จะสร้างภาระด้านการเงิน เพิ่มภาระการบริหารจัดการภายใน จะส่งผลต่อภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลประชาชนในภาพรวมอย่างแน่นอน ดังนั้น แม้คณะรัฐมนตรีจะเตรียมงบประมาณสนับสนุนการรักษาพยาบาลโควิด-19 ก็ไม่พึงตัดลดงบประมาณกองทุนบัตรทองและค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ” จดหมายเปิดผนึกระบุ พร้อมกับเรียกร้องให้ ครม.ยกเลิกการตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2,400 ล้านบาทและงบประมาณด้านการลงทุนซ่อม-สร้างห้องพักผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด 938.4 ล้านบาท

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.กระทรวงสาธารณสุข
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.

ปลัด สธ.ชี้แจง

กระแสความไม่พอใจต่อการตัดงบบัตรทอง 2,400 ล้านบาทที่เริ่มก่อตัวขึ้น ทำให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.แถลงข่าวชี้แจงว่างบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่โอนไปนั้นเป็นงบประมาณในส่วนของเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนของเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรที่สำนักงบประมาณดูแล

นพ.สุขุมยืนยันว่าการตัดงบประมาณส่วนนี้ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประชาชนแน่นอน และหากงบประมาณไม่เพียงพอ สปสช. สามารถเสนอของบประมาณสนับสนุนเพิ่มได้

นพ.สุขุมกล่าวเพิ่มเติมว่า สปสช.เพิ่งได้รับงบประมาณเพิ่มเติม 3,260 ล้านบาทมาใช้ในการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 เช่นค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

ส่วนงบฯ ของ สธ. กว่า 1,000ล้ านบาทที่จะถูกโอนไปนั้นเป็นงบครุภัณฑ์ งบก่อสร้าง ซึ่งหากไม่ได้ใช้จ่ายส่วนนี้จะต้องส่งคืนสำนักงบประมาณอยู่แล้ว