ประเด็นตรวจสอบกรณีเว็บไซต์ LAW360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ออกมาเผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เมื่อ เม.ย. 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ โดย LAW360 มีการกล่าวอ้างผลการสอบสวนพาดพิงถึงบุคลากร อดีตผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา สำนักงานกฎหมาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องในแวดวงกระบวนการยุติธรรมไทยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบน ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข้อมูลเชิงลึกในต่างประเทศไปแล้วว่า นายแอนดรูว์ เดลานีย์ อดีตทนายความจากสำนักกฎหมายบิ๊กลอว์ (Big Law) ที่เคยทำงานในฐานะทีมงานที่ถูกว่าจ้างและกำกับดูแลจากบริษัทวิลเมอร์เฮล ให้ดำเนินการสอบสวนภายในบริษัทโตโยต้า ได้ออกมาเปิดโปงว่า นายไมเคิล โพซาด้า หนึ่งในที่ปรึกษาด้านกฎหมายของประธานาธิบดีโจ ไบเด้น ผู้ที่เคยเป็นอดีตทนายความของบริษัทวิลเมอร์เฮลนั้นมีพฤติกรรมการปกปิดการกระทำอันไม่ถูกกฎหมายของบริษัทโตโยต้าในประเทศไทย และมีการฟ้องร้องเป็นคดีความที่ศาลแขวงรัฐฟลอริดา โดยนายไมเคิล โพซาดา ถูกเรียกตัวมาให้การเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีรายงานว่าอดีตนักกฎหมายคนอื่นที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ทำเนียบขาวนั้นก็ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำต่อหน้าศาลแขวงรัฐฟลอริดาเช่นกัน
(อ่านประกอบ:คุ้ยข้อมูล LAW 360 แฉอดีต นัก กม.บ.ตรวจสอบ-ทีมงาน ‘โจ ไบเดน’ ช่วยปกปิดสินบนโตโยต้า?, รอติดต่อกลับ! ตามหา จอห์น โด ผู้ฟ้องคดีนัก กม.-ทีมงาน ‘โจ ไบเดน’ ช่วยปกปิดสินบนโตโยต้า?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลในต่างประเทศ พบรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เพิ่มเติม มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับคดีความการเลิกจ้างนายแอนดรูว์ เดลานีย์ อดีตทนายความจากสำนักกฎหมายบิ๊กลอว์ (Big Law) ที่เคยทำงานในฐานะทีมงานที่ถูกว่าจ้างและกำกับดูแลจากบริษัทวิลเมอร์เฮล ให้ดำเนินการสอบสวนภายในบริษัทโตโยต้า บนเว็บไซต์ taxnotes.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์การรายงานข่าวด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา
บทความจากหน้าเว็บไซต์ taxnotes.com
รายงานข่าวชิ้นนี้ เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เม.ย. มีชื่อว่า “บริษัทโตโยต้าที่ถูกต้องสงสัยว่ามีการให้สินบนในประเทศไทย จากคำกล่าวอ้างของนักกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา” (Toyota Caught Up in Thai Bribery Claims Made by U.S. Lawyer)
เนื้อหารายงานในช่วงแรก มีการกล่าวอ้างถึงข่าวลงวันที่ 5 เม.ย. ว่านายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าจะมีการดำเนินการตรวจสอบในข้อครหาสินบนที่ปรากฎทางเว็บไซต์ LAW360 เมื่อช่วงวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ เวลานั้น ยังไม่ปรากฎข้อมูลว่า มีการจ่ายสินบนให้กับใครบ้าง
เว็บไซค์ taxnotes ยังได้รายงานต่อไปว่า การเปิดเผยข้อมูลความเป็นไปได้ว่าจะมีการให้สินบนในเว็บไซต์ LAW360 นั้น แท้จริงแล้วเกิดขึ้นหลังจากที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างบริษัทที่ชื่อว่าไฮร์คอนเซล (HC2) ที่ถูกว่าจ้างมาจากบริษัทวิลเมอร์เฮลอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนภายในให้กับบริษัทโตโยต้ากับนายแอนดรูว์ เดลานีย์
โดยย้อนไปในเดือน ก.ย.2562 บริษัท HC2 ได้มีการว่าจ้างนายแอนดรูว์ เดลานีย์ ทนายความที่สามารถแปลภาษาไทยได้ให้มาทำงานตรวจสอบเอกสารที่สำนักงานในนครนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 นายเดลานีย์ส่งอีเมลไปหาบริษัท HC2 และบริษัทสำนักกฎหมาย (ไม่ระบุชื่อ) แห่งหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาในอีเมลนั้นเป็นการบ่นถึงสภาพการณ์ว่าเพื่อนร่วมงานของเขามีอาการคล้ายกับเป็นหวัด เขาจึงขอให้ทำงานทางไกล หรือทำงานที่บ้านแทน แต่ปรากฏว่าทาง HC2 ตอบกลับมาว่าไม่สามารถให้ทำงานทางไกลได้ และลูกค้าของบริษัท HC2 ก็ได้มีการระงับโครงการการตรวจสอบเอกสารแล้ว
หลังจากนั้นไม่นานนายเดลานีย์และเพื่อนร่วมงานของเขาก็ถูกเลิกจ้าง
ต่อมาในช่วงเดือน เม.ย. 2563 บริษัท HC2 ได้มีการยื่นฟ้องคดี (1:20-cv-3178-LJL) ที่ศาลแขวงสหรัฐสำหรับเขตทางตอนใต้ของนิวยอร์ก
โดยกล่าวหาว่านายเดลานีย์ซึ่งมีความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการระงับโครงการ และการที่เขาถูกเลิกจ้าง นั้นมี “พฤติกรรมการสร้างข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ”
ข้อมูลสรุปคดีระหว่างบริษัท HC2 กับนายแอนดรูว์ เดลานีย์ (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บCASETEXT.COM)
โดยในการยื่นฟ้องคดีนั้น บริษัท HC2 ระบุว่า นายเดลานีย์ได้กล่าวหาว่าบริษัทที่ทำหน้าที่จัดหาบุคลากรด้านกฎหมายได้มีการสมคบคิดกับบริษัทสำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง และบริษัทลูกค้า เพื่อที่จะดำเนินการเลิกจ้างนายเดลานีย์
ขณะที่ นายเดลานีย์ได้มีการส่งจดหมายไปถึงบริษัทสำนักกฎหมายที่รับงานให้กับบริษัทลูกค้าเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563
ในจดหมายมีการเรียกร้องเงินจำนวนทั้งสิ้น 450,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (14,017,500 บาท) และนายเดลานีย์ยังได้ข่มขู่ว่าจะมีการฟ้องร้องและเปิดโปงข้อมูลลับถ้าหากยังไม่ได้รับเงินจำนวนที่เรียกร้องในวันถัดมา
เมื่อมีการปฏิเสธการจ่ายเงิน นายเดลานีย์จึงได้ฟ้องร้องต่อบริษัทของลูกค้าในชื่อของ จอห์นโด ที่ศาลรัฐฟลอริดา
ต่อมาวันที่ 31 ส.ค. 2563 ทนายความของนายเดลานีย์ได้มีการยื่นบันทึกทางกฎหมายเพื่อคัดค้านต่อกรณีที่บริษัท HC2 ได้เรียกร้องให้ยกคำร้องที่นายเดลานีย์ที่โต้แย้งต่อการฟ้องร้องของบริษัท
หน้าเว็บไซต์บริษัทไฮร์คอนเซล หรือ HC2 ผู้จ้างให้นายแอนดรูว์ เดลานีย์เข้ามามีส่วนในการแปลเอกสารภาษาไทย
นายเดลานีย์ ระบุว่า บริษัท HC2 นั้นมีพฤติกรรมเป็นตัวแทนและนายหน้าให้กับทั้งบริษัทโตโยต้าและบริษัทวิลเมอร์เฮล และยังกล่าวหาอีกว่าบริษัทจัดหาบุคลากร (HC2) ได้มีการเปิดโปงเขาในฐานะจอห์นโดฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องคดีที่รัฐฟลอริดา
ทนายความของนายเดลานีย์ ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ไปยังศาลว่า “กระบวนการทบทวนเอกสารที่กำลังจะสิ้นสุดลงและการจัดเก็บฐานข้อมูลเอกสารซึ่งอยู่ ณ ที่ทำการของบริษัทโตโยต้าที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เพื่อจะมีการควบคุมเบ็ดเสร็จ และกระบวนการสอบสวนในประเด็นอันมีความเสี่ยงสูงว่าจะมีพฤติกรรมการทุจริตเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลานานหลายปี การสืบสวนดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงมีกิจกรรมการทุจริตและความเสี่ยงทางการเงิน ต่อบุคลลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในสถานประกอบการประเทศไทย”
ทนายความของนายเดลานีย์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงเดือน พ.ย.2562 นั้นนายเดลานีย์ยังได้รับอีเมลอันน่าสงสัยฉบับหนึ่งที่ส่งมายังอีเมลส่วนตัว ซึ่งที่มาของอีเมลก็มาจากทนายความทางด้านภาษีที่ค่อนข้างจะมีอิทธิพลรายหนึ่ง ระบุว่าผลประโยชน์ทางอาชีพของทนายคนนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการสอบสวนดังกล่าวนี้ (ระบุว่าเป็น “อีเมลไทย”)
จากข้อมูลในกระบวนการพิจารณาคดีแสดงให้เห็นว่าอีเมลไทยฉบับดังกล่าวนั้นถูกส่งมาถึงนายเดลานีย์เป็นระยะเวลาหนึ่งวันหลังจากที่โตโยต้าได้ตัดสินใจอย่างปุบปับว่าจะกลับมาผลิตรถยนต์พรีอุสในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
และการส่งอีเมลดังกล่าวยังเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีประเด็นเกี่ยวกับทั้งการล็อบบี้ การให้สินบนเกิดขึ้น โดยคาดการณ์กันว่าสำนักงานกฎหมายผู้ส่งอีเมลมาถึงนายเดลานีย์นั้น ต้องการให้นายเดลานีย์ได้ช่วยเหลือในการทวงถามติดตามค่าธรรมเนียม และค่าจ้างบริการ ที่ยังคงค้างจ่ายต่อสำนักงานกฎหมายแห่งนี้เป็นเงินมูลค่าหลายล้านบาท
นายเดลานีย์ได้กล่าวอ้างต่อไปว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเขานั้นถูกไปใช้อย่างไม่ถูกต้องในการล่วงละเมิดข้อผูกพันด้านการรักษาความลับที่บริษัท HC2 มีต่อลูกค้าของบริษัท
“นี่เป็นเพราะว่าบริษัทโตโยต้าซึ่งต้องการที่จะทำธุรกิจที่มีความทุจริตต่อไปในประเทศไทย กำลังจะหาหนทางที่จะขจัดการสืบสวนนี้ออกไป โดยในที่สุดแล้ว พวกเขาก็ประสบความสำเร็จ” ทนายความของนายเดลานีย์กล่าวกับศาลและกล่าวต่อไปด้วยว่า “หนทางเดียวที่บุคคลเหล่านี้ในประเทศไทยจะได้รับรู้เกี่ยวกับงานทบทวนเอกสารของนายเดลานีย์นั้นก็เปิดโปง เปิดเผยข้อมูลจากมันเอง
ทั้งนี้ นายเดลานีย์ซึ่งเป็นคนไทยมีความตั้งใจว่าจะกลับประเทศไทย และไม่ต้องการที่จะให้เรื่องที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลอันเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นั้น ถูกรับรู้จากที่ประเทศไทยเอง”
ต่อมาในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 นายลูอิส ลิมาน ผู้พิพากษาได้มีการยกเลิกคำโต้แย้งของนายเดลานีย์ และในวันที่ 9 ก.พ. บริษัท HC2 ก็ได้แจ้งข้อมูลให้กับผู้พิพากษาลิมานให้รับทราบว่านายเดลานีย์ยื่นฟ้องให้ตัวเองเป็นบุคคลล้มละลายในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 พอมาถึงช่วงวันที่ 22 ก.พ. ผู้พิพากษาลิมานก็ได้ชะลอคดีระหว่าง HC2 ที่ร้องต่อนายเดลานีย์เอาไว้ก่อน เนื่องจากรอผลคำร้องการยื่นล้มละลายดังกล่าว
ส่วนทางบริษัทโตโยต้า สำนักกฎหมายวิลเมอร์เฮล ก็ปฏิเสธที่ให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับทนายความของนายเดลานีย์ที่รัฐนิวยอร์ก และที่รัฐฟลอริดาก็ปฏิเสธจะให้ความเห็นเช่นกัน
(สิ้นสุดบทความของเว็บไซต์ taxnotes ที่ลงวันที่ 21 เม.ย. 2564)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ taxnotes เพิ่มเติม พบว่ามีรายงานอีกหนึ่งชิ้นลงวันที่ 4 พ.ค. 2564 โดยเว็บไซต์ taxnotes ได้ไปสัมภาษณ์กับนายแอนดรูว์ เดลานีย์ โดยตรงเกี่ยวกับเนื้อหารายงานของเว็บไซต์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ดังกล่าว
โดยนายเดลานีย์กล่าวว่า
“ผมปฏิเสธหลักฐานในบทความของคุณ (“บริษัทโตโยต้าที่ถูกต้องสงสัยว่ามีการให้สินบนในประเทศไทย จากคำกล่าวอ้างของนักกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา” ลงวันที่ 21 เม.ย.) จากเท่าที่ผมได้รับรู้มา ไม่มีการให้สินบน หรือการประพฤติโดยมิชอบ โดยผู้พิพากษาไทยคนไหน หรือว่าทนายไทยคนไหนอันเกี่ยวข้องกับคดีรถพรีอุสเกิดขึ้น มันไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่เป็นความพยายามที่จะด้อยค่ากระบวนการตุลาการและทนายในประเทศไทย ผมไม่เกี่ยวข้องใดๆทั้งสินเกี่ยวกับแถลงการณ์อันเป็นเท็จที่ถูกจัดทำโดยบริษัทโตโยต้าหรือบริษัทวิลเมอร์เฮล ผมไม่ใช่ลูกจ้างของพวกเขา และผมไม่เห็นด้วยกับพวกเขา”
(สิ้นสุดบทความของเว็บไซต์ taxnotes ที่ลงวันที่ 4 พ.ค. 2564)
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีการจ่ายสินบนของบริษัทโตโยต้า ในต่างประเทศที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด ซึ่งมีหลายประเด็นที่จะต้องติดต่อกันต่อไป อาทิ สิ่งที่นายแอนดรูว์ เดลานีย์กล่าวอ้างมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ พฤติกรรมการทุจริตของบริษัทโตโยต้าที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีที่รัฐนิวยอร์กมีรายละเอียดอย่างไร และบริษัทโตโยต้ากับบริษัทวิลเมอร์เฮลอาศัยหลักฐานอะไร ถึงได้มีการกล่าวหาว่าทางบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ว่ามีการจ่ายสินบนให้กับผู้พิพากษาไทยตามที่ปรากฎเป็นข่าว
เพื่อให้เรื่องนี้ปรากฎความจริงชัดเจนโดยเร็วที่สุด