5ก.พ.62-รศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กธีระวัฒน์ เหมะจุฑา thiravat hemachudha ขอลาออกจากการเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และเรียนต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับส่งสำเนาถึง นายสุวพันธุ์ อายุวรรธนะ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง
เนื้อหาในจดหมายความว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการทั้งสามสารในการเกษตรในประเทศไทยนั้น
ตัวแทนนักวิชาการอิสระซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในกรรมการคณะนี้เห็นว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มี “การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์” ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ ดังนี้
1) ตัวแทนนักวิชาการได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เป็นรายงานสรุป รายงานวิจัยในประเทศ และงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิจัยต่างประเทศ ในที่ประชุมเป็นจำนวนมาก แต่มิได้มีการพิจารณา บรรจุวาระ หรือดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปตามกระบวนการทางวิชาการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลาตามคำสั่งแต่งตั้งของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแต่ประการใด
2) ในทางตรงกันข้าม คณะกรรมการฯกลับมีหนังสือเชิญประชุม โดยอ้างข้อร้องเรียนของ “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ที่คัดค้านมติและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และข้อเสนอของสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) ที่เสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง บรรจุในวาระการประชุม ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ทั้งๆที่องค์กรที่ยื่นข้อคัดค้านนั้น เป็นองค์กรของสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มิใช่ตัวแทนของเกษตรกรแต่ประการใด การประชุมที่จะเกิดขึ้นโดยบรรจุวาระนี้ แสดงเจตนาว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นไปเพื่อสร้างแรงกดดันไม่ให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีการจัดประชุมในเร็วๆนี้ มิใช่การดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับมอบหมายแต่ประการใด
3) จากการตรวจสอบพบหลักฐานว่า กรรมการฯจำนวน 4 คน ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่มีการผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการเช่นนี้ไม่อาจทำให้การดำเนินงานและการประชุมสามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการใช้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้
ตัวแทนนักวิชาการอิสระ ตามรายชื่อในท้ายจดหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์พรพิมล กองทิพย์ และรองศาสตราจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล
จึงขอลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ออกจดหมายนี้เป็นต้นไป
Cr.thaipost
สำนักข่าววิหคนิวส์