ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #สุดทนอาจารย์ให้ท้ายม๊อบ ! อดีตรองอธิการมธ.สุดทนปริญญา เพ้อประกันแกนนำ

#สุดทนอาจารย์ให้ท้ายม๊อบ ! อดีตรองอธิการมธ.สุดทนปริญญา เพ้อประกันแกนนำ

10 March 2021
689   0

จากกรณีศาลอาญามีคำสั่ง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบราษฎร ประกอบด้วย

1. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง

2. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์

3. นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน

จากกรณีอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตาม ป.อาญา ม.116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ป.อาญา ม.215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันกีดขวางการจราจรฯ, ตั้งวางวัตถุบนถนนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฯ, ทำลายโบราณสถานฯ, ทำให้เสียทรัพย์ฯ และร่วมกันโฆษณาเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ป.อาญา ม.112 ที่ผ่านมา
.
ล่าสุด วันนี้ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์ให้ความเห็นผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ผู้สนับสนุนม็อบ 3 นิ้ว ต่างดาหน้ากันออกมาเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ที่ต้องคดี ตามมาตรา 112 และ 116 ด้วยเหตุผลว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา และจำเลยทุกคน และตามหลักยุติธรรมสากล ต้องถือว่าผู้ถูกจับกุมเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง
.
ไม่น่าเชื่อว่า ผู้ที่ออกมาเรียกร้อง หลายคนก็เป็นนักกฎหมาย แต่กลับอ้างข้อมูลทางกฎหมายที่ไม่ครบถ้วน พูดเสมือนหนึ่งว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลย ตราบใดที่การพิจารณาดียังไม่ถึงที่สุด
.
ศาลจะต้องอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทุกรายไป การพูดเช่นนี้ แม้ไม่ได้พูดตรง ๆ แบบผู้ที่อยู่ในม็อบ และใน social media แต่ก็มีนัยยะว่าศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยที่เป็นแกนนำเหล่านี้
.
ซึ่งทาง อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็โพสต์ facebook ความตอนหนึ่งว่า “การได้รับการประกันตัวในคดีอาญา หรือที่กฎหมายใช้คำว่า ปล่อยตัวชั่วคราว นั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหา และจำเลยทุกคน ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้ในมาตรา 107 ว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ….”
.
อ.ปริญญา กลับไม่ได้ให้ข้อความในมาตรา 107 ให้ครบถ้วน เพราะในมาตรา 107 มีการระบุต่อจากนั้นอีกว่า “ ….พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 …” ในที่นี้จึงได้คัดลอกข้อความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 มาตรา 108 และมาตรา 108/1 มาให้อ่านกันแบบไม่ตัดทอนดังนี้

มาตรา 107 เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงาน หรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว และผู้ต้องหา หรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1
.
คำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวโดยทันที
.
มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบด้วย

(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา

(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

(5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

(6) ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่

(7) ในกรณีที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล

ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
.
มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะหลบหนี

(2) ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(3) ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(4) ผู้ร้องขอประกัน หรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
.
จะเห็นว่า ข้อความที่ว่า “ผู้ต้องหา หรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” จึงไม่ใช่เป็นการอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยอัตโนมัติ แต่ศาลจะต้องวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยตัวโดยพิจารณาเงื่อนไขตามมาตรา 108 การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะทำได้หากมีเหตุอันควรเชื่อ 5 ข้อ ตามมาตรา 108/1
.
สรุปสั้น ๆ คือ การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา หรือจำเลย เป็นสิทธิที่พึงได้รับ แต่ศาลต้องวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตามเงื่อนไขตามมาตรา 108 และศาลอาจจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้หากมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งใน 5 เหตุ ตามมาตรา 108/1
.
ยังดีที่อ.ปริญญาระบุต่อมาในโพสต์ว่า “แม้ว่าศาลจะมีดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ …..” แต่ก็ได้เปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกประเด็น คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 29 บัญญัติว่า ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
.
ดังนั้น ตามข้อวินิจฉัยของอ.ปริญญา การนำผู้ต้องหา หรือจำเลย ไปขังไว้ในที่เดียวกันกับนักโทษอื่น ๆ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 29 เพราะเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด
.
อยากรู้ว่า หากในที่สุด แกนนำกปปส 8 คน ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อ.ปริญญาจะพยายามค้นคว้าหาข้อกฎหมาย และออกมาแสดงความเห็นแบบนี้เหมือนกันหรือไม่
.
รวมทั้งคดีอื่น ๆ ที่ผ่านมาอีกกี่หมื่นคดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยเล่า ทำไมไม่เคยออกมาแสดงความเห็นแบบนี้บ้าง
.
ดูเหมือนจะเป็นวันเดียวกันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกแถลงการณ์ ซึ่งผมหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นแถลงการณ์ปลอม เพราะแค่เห็นหัวเรื่องก็ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียแล้ว
.
แถลงการณ์ฉบับนี้ใช้หัวเรื่องว่า “ขอให้คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม” อย่าลืมว่า ผู้ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวคือศาล ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่รัฐบาล
.
หัวเรื่องอย่างนี้ย่อมเป็นการสื่อความว่า ศาลไม่ได้คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม ไม่ต่างจากที่ผู้สนับสนุนม็อบทั้งหลายที่ออกมาเรียกร้อง
.
ในแถลงการณ์ยังระบุว่า นักศึกษาที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ก็เพราะเกี่ยวข้องกับการชุมนุม และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตามความเป็นจริง ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในรอบแรก 4 คน ในรอบนี้อีก 3 คน ที่เหลือศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวทั้งหมด ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด ไม่ได้ถูกจับกุมเพียงเพราะไปร่วมชุมนุม และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
.
แต่ได้กระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 112 เป็นความผิดคนละหลายต่อหลายกระทง มีพยานหลักฐานที่แน่นหนา เป็นคลิปวีดิโออย่างครบถ้วน และได้กระทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่อได้เลยว่า หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะกระทำอีก
.
การแสดงความห่วงใย และช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่การออกแถลงการณ์ที่ตัดทอนข้อเท็จจริงบางประการออก เพื่อเป็นคุณกับนักศึกษาที่จะอย่างไรก็ทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ไม่น่าจะใช่วิถีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ว่าในยุคใดสมัยใด
.
แม้ผมไม่ใช่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ แต่ผมมีความรัก และผูกพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าศิษย์เก่าแต่ความเที่ยงตรงในข้อมูล และข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
.
ดังนั้น จึงยังคงมีความหวังว่า แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยฉบับนี้จะไม่ใช่แถลงการณ์จริง แม้ความหวังของผมจะเป็นเพียงความหวังอย่างลม ๆ แล้งก็ตาม

——————————-