22 ต.ค.2565 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยข้อมูลโลกออนไลน์ เรื่อง ความจริงในโลกโซเชียล กรณีศึกษาข้อมูลในโลกโซเชียล ผ่านเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้กรอบการปฏิบัติการข้อมูลขั้นสุทธิ (Net Assessment) และระเบียบวิธีวิทยาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Methodology) จากแหล่งข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มบัญชีผู้ใช้สื่อออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 10 กันยายน ถึง 21 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความจริงในโลกโซเชียลทางการเมืองในการศึกษาครั้งนี้คือ การปลุกปั่นกระแสกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 27,065 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 24,868 ตัวอย่างหรือร้อยละ 91.88 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเช่น ไล่ประยุทธ์ ประยุทธ์ออกไป ในขณะที่ จำนวน 2,197 ตัวอย่างหรือร้อยละ 8.12 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 621.7 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา ตามภาพประกอบ
แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งภายในและภายนอกโลกโซเชียลที่มีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนบุคคลสำคัญในรัฐบาล พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 ยังคงสนับสนุนบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 33.5 ไม่สนับสนุนบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 13.2 ยังคงเปลี่ยนใจได้หรือเป็นกลุ่มคนกลาง ๆ ตามลำดับ จะพบว่า กระแสที่ถูกปั่นในโซเชียลสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัวและมาจากคนเพียงคนเดียวที่ปั่นกระแสให้เห็นว่ามีจำนวนมากเป็นหลักหมื่น หลักแสนขึ้นไป
นอกจากนี้ เมื่อนำประเด็น ความจริงในโลกโซเชียลที่กระทบต่อความมั่นคงชาติ เช่น การยกเลิก ม. 112 การปลุกปั่นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายมาพิจารณา ได้พบแนวโน้มของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ยกเลิก ม.112 และการปฏิรูปสถาบัน และอื่น ๆ พบว่า การปลุกปั่นกระแสกระทบความมั่นคงของชาติมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 42,008 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 38,170 ตัวอย่างหรือร้อยละ 90.86 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ในขณะที่ จำนวน 3,838 ตัวอย่างหรือร้อยละ 9.14 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 95.95 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา ตามภาพประกอบ
เมื่อเจาะลึกข้อมูลไปยังฐานข้อมูลกลุ่มผู้ปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงชาติทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ พบว่า เกือบร้อยละ 100 ที่เป็นการใช้ชื่อบัญชีอวตาร หรือ บัญชีทิพย์ ไม่มีตัวตนแท้จริง เช่น Mxxxxboobxx1 และกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์อักขระเชิงรูปภาพ การ์ตูน ที่คอยปั่นกระแสยกเลิก ม.112 และปลุกปั่นมาจากต่างประเทศที่มีการใช้ VPN เพื่อซ่อนและปกปิด บิดเบือนที่อยู่ของตนเองให้เข้าใจผิดเรื่องแหล่งที่มาของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ระบุว่ามาจาก แอฟริกาใต้ แต่จริง ๆ อยู่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เช่น ตุรกี สิงคโปร์ อเมริกา เกาหลี และประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ใช้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า มีการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงของชาติมาจากต่างประเทศอย่างชัดเจนที่ยืนยันได้จากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยที่ประชาชนในประเทศจะหลงกระแสไปกับภาพจำว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลและความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และคิดกันไปว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานรัฐที่ประชาชนวางใจมากที่สุดในการปกป้องรักษาความมั่นคงของชาติและควบคุมการชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลาย พบว่า ร้อยละ 36.1 ระบุตำรวจ รองลงมาคือร้อยละ 22.4 ระบุทหาร ร้อยละ 21.9 ระบุ มหาดไทย ร้อยละ 10.1 ระบุกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 8.3 ระบุ ปกครองส่วนท้องถิ่น และร้อยละ 1.2 ระบุอื่น ๆ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า ขบวนการปลุกปั่นกระแสในโซเชียลมีเดียใช้ปมละเอียดอ่อนของสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นจากนั้น พ่วงด้วยการติด hashtag (#) ข้อความปลุกปั่นกระแส ทั้ง ๆ ที่ในเนื้อหาข่าวที่นำมาใช้เป็นหัวจรวดปลุกกระแสไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติและความมั่นคงเลย จึงน่าจะเป็นประโยชน์ให้หน่วยงานความมั่นคงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาปัจจัยสำคัญต่อไปนี้ เช่น เหตุการณ์สถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยา และความคงทนยาวนานของความรู้สึกนึกคิดที่ตกค้างในใจของประชาชน หรือจริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นและเป็นไปตามผลลัพธ์ของอิทธิพลโซเชียลมีเดียและการผลักดันกลุ่มประชาชนไปสู่การแบ่งขั้ว เลือกข้าง อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ถ้าประชาชนคนไทยทุกคนในชาติ รู้เท่าทันเกมการปลุกปั่นกระแสของขบวนการโซเชียลที่โจมตีเสถียรภาพรัฐบาลและกระทบไปยังความมั่นคงของชาติในมิติอื่น ๆ เช่น สถาบันหลักของชาติ การยกเลิก ม.112 การพาคนลงถนนขับไล่นายกรัฐมนตรี ไล่ประยุทธ์ ประยุทธ์ออกไป เหล่านี้เป็นต้น ผลที่ตามมาคือ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่หลงกระแสและมีหลักยึดเหมือนในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาโดยมีครั้งหนึ่งผู้พิพากษาไต่สวนคดีด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริการะหว่างรัฐกับองค์กรต่างชาติและผู้พิพากษาทั้งองค์คณะสรุปชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคงและผลประโยชน์ชาติสหรัฐฯ อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ความมั่นคงของชาติต้องมาก่อน ผู้ใดที่ถูกสงสัยว่าจะสั่นคลอนความมั่นคงของชาติก็จะถูกกันออกไปจากความเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยในความมั่นคงและผลประโยชน์ชาติของสหรัฐอเมริกาจึงเสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพิจารณายุทธศาสตร์ภาพใหญ่ขับเคลื่อนให้ทุกคนในชาติช่วยกันคือ การปกป้องรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ชาติของไทย