ข่าวประจำวัน » #สุทธิพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดเผย มท.ส่งความเห็นรื้อกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับถึงมือ “กฤษฎีกา” แล้ว

#สุทธิพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดเผย มท.ส่งความเห็นรื้อกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับถึงมือ “กฤษฎีกา” แล้ว

10 December 2017
1026   0

“มหาดไทย”ส่งความเห็นรื้อกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับถึงมือ “กฤษฎีกา” แล้ว เผย 8 ประเด็นหลัก เพิ่มสเปคผู้สมัครหน้าใหม่ต้องจบปริญญาตรีเทียบเท่า ส.ส. สั่งทำหมันผู้บริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบห้าม “ผูกขาด” อยู่ในเก้าอี้เกิน 2 วาระ ลดจำนวนอบต.ลงครึ่งต่อครึ่ง พร้อมเปิดช่องให้ประชาชนถอดถอนง่ายขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยความคืบหน้ากระบวนการทำความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 6 ฉบับ ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำความเห็นเพิ่มเติมไปยังกฤษฎีกาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม อาทิ

1.อำนาจสอบสวนและวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภา และผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงเทศบาลตำบล ควรให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนและทำความเห็นเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยและสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้ว่าฯดำเนินการสอบสวน และ รมว.มหาดไทย เป็นผู้พิจารณาสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ส่วนสมาชิกและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยังเป็นอำนาจของผู้ว่าฯในการสอบสวน และ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ใช้ดุลพินิจให้พ้นจากตำแหน่ง

2.อายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แก้ไขเป็นมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 95 ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มจำนวนขึ้นเล็กน้อย

3.เรื่องการถอดถอนสมาชิกหรือผู้บริหาร อปท. เดิมใช้เสียงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนน 3 ใน 4 เพื่อถอดถอน แก้ไขเป็นใช้เสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ในการถอดถอนเพื่อเปิดโอกาสให้เสียงข้างมากมีโอกาสถอดถอนได้ง่ายขึ้น

4.คุณสมบัติเรื่องการศึกษา เห็นตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด โดยยึดตามคุณสมบัติ ส.ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องจบปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำ ส่วนผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จบปริญญาตรีก็สามารถสมัครได้ แต่คนที่ยังไม่เคยเป็นต้องจบปริญญาตรี

5.เสนอปรับลดจำนวนสมาชิกสภา อบต. จากหมู่บ้านละ 2 คนเป็น 1 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทนสมาชิกสภาลงได้ครึ่งหนึ่ง และเพื่อให้อบต.มีงบประมาณในการพัฒนาการจัดทำบริการสาธารณะเพิ่มขึ้น

6.ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นทุกรูปแบบ ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอหรือจังหวัดหรือ อปท. รูปแบบพิเศษเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 97

7.ห้ามผู้บริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกัน เพื่อป้องกันการผูกขาดและสร้างฐานอำนาจในตำแหน่ง

8.ควรนำบทบัญญัติเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 184 (2) (3) และวรรคสาม และมาตรา 185 กรณีใช้สถานะตำแหน่งก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมากำหนดไว้ในร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ฉบับ

“สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้จะไปอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะประมวลความเห็นของทุกฝ่าย แล้วค่อยสรุปว่ากฎหมายท้องถิ่นจะออกมาในรูปแบบใด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นายสิทธิพงษ์ กล่าว

ขอบคุณที่มา : http://www.naewna.com/politic/307990

สำนักข่าววิหคนิวส์