สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องของนายดิเรก พรสีมา อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่ม 3 การศึกษา หลังจากได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ โดยขอให้การจัดการเลือก สว.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 224 มาตรา 213 และให้ผลที่เกิดจากการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวอิศรา ว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องไว้แล้วเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคำร้องของนายดิเรก แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการร้องการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศที่กำหนดไว้ และเรื่องขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือก สว.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
พ.ต.ท.กีรปกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรับคำร้องแล้ว จะส่งไปยังสำนักกฎหมายและคดี และสำนักสอบสวนพิจารณา โดยจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนพิจารณาคำร้องว่ามีพยานและหลักฐานใดบ้าง ร้องประเด็นใดและต้องมีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานภายนอกหรือไม่ เพื่อขอให้หน่วยงานภายนอกดังกล่าวชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อประมวลเรื่องเสนอตามลำดับชั้น พร้อมความเห็นไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบ
ทั้งนี้ กรณีต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต้องพิจารณาภายใน 60 วัน กรณีร้องเรียกกกต.ขึ้นอยู่กับการชี้แจงของกกต. หากมีเรื่องที่กกต.ต้องชี้แจง โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งหนังสือไปยังกกต.ชี้แจงภายใน 30 วัน ขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน
พ.ต.ท.กีรปกล่าวว่า ถ้าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน นับจากวันยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และ.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ไปยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
“หากคำร้องมีลักษณะเดียวกันกับคำร้องที่เคยสั่งยุติไปแล้วก็ต้องมีอันต้องยุติไป ดังนั้นจึงต้องดูเนื้อหาก่อน เนื่องจากคำร้องเรื่องการเลือก สว.ส่งมาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนมาก 40-50 เรื่อง เช่น เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร เรื่องการดำเนินงานของกกต. รวมถึงเรื่องการบล็อกโหวต ซึ่งบางเรื่องยุติไปแล้ว”พ.ต.ท.กีรปกล่าว
ผู้สื่อข่าวอิศรารายงาน ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 นายดิเรก พรสีมา อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่ม 3 การศึกษาได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ โดยขอให้การจัดการเลือก สว.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 224 มาตรา 213 และให้ผลที่เกิดจากการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และประสงค์จะร้องเรียน กกต. ใน 3 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้
1.กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง สว. และต้องจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 224 (1) และมาตรา 224 (2) ตามลำดับ ‘แต่กกต.กลับละเลย ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว’
2.การที่ กกต. ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม ข้อ 1 ได้ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้สมัครในกลุ่ม 3 – การศึกษาในครั้งนี้ด้วย เสียสิทธิ์ในการได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้
3.นอกจากนั้น กกต. ยังไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 ‘ปล่อยปละละเลยให้มีการจัดทำโพยและนำโพยเข้ามาใช้ในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการทำโพยด้วย เสียสิทธิ์ในการรับเลือกเป็น สว.ในครั้งนี้
สิ่งที่ขอให้ศาลโปรดเมตตาพิจารณา เนื่องจาก กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
สิ่งที่ข้าพเจ้าและเพื่อนผู้สมัคร สว.2567 เห็นว่าการดำเนินการจัดให้มีการเลือก สว.ปี 2567 มีความไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักรราช 2560 มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (2)(3) ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 77 ตั้งแต่แรก
ตั้งแต่การดำเนินการรับสมัครในระดับอำเภอ การหาคนมาลงสมัครของบางกลุ่มการเมืองหรือบางพรรคการเมือง การดำเนินการเลือก การลงคะแนน ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงใคร่ขอความเมตตาจากศาลได้โปรดพิจารณา
สั่งให้การจัดการเลือก สว.2567 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหลักนิติธรรม จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ในคำร้อง นายดิเรกยังประสงค์ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริง อาทิ ให้ศาลตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ผ่านการเลือกเข้ามาถึงระดับประเทศตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 11 , 13, และ 14 ของ ของผู้สมัครที่ผ่านเข้ามาระดับประเทศใหม่ทั้งหมด
โดยการตั้งกรรมการผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สาธารณะให้ความเชื่อมั่น ศรัทธา และเชื่อถือเพื่อให้รู้ว่าผู้สมัครที่ผ่านเข้ามาระดับประเทศ มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามกฎหมายทั้งตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 11,13 และ 14 หรือไม่ ว่ามีจำนวนกี่คน คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เปิดการไต่สวนเพิ่มเติมในบางประเด็นที่ศาลยังมีความสงสัย