ข่าวประจำวัน » หนี้ครัวเรือนพุ่ง !! เศรษฐกิจทรุด รัฐบาลเอาไม่อยู่

หนี้ครัวเรือนพุ่ง !! เศรษฐกิจทรุด รัฐบาลเอาไม่อยู่

17 July 2024
24   0

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปัจจุบันยังทรงตัวในระดับสูงที่ 16.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ของจีดีพี ขณะที่ตัวเลขหนี้เสียแตะระดับ 1.14 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุด โดยหนี้เสียที่มากที่สุดคือสินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กระจายตัว 

กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) รายงานยอดรถจดทะเบียนใหม่ เดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 237,051 คันลดลง 18,721 คันหรือ 7.32% จากเดือนพฤษภาคมที่มีรถจดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 255,772 คัน ในจำนวนรถจดทะเบียนใหม่แบ่งรถถจดทะเบียนใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือ รถส่วนบุคคล 231,948 คัน ลดลง 17,809 คันหรือ 7.31% จากเดือนพฤษภาคม 249,757 คันและรถจดทะเบียนใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกหรือ รถสาธารณะ 5,103 คันลดลง 915 คันหรือ 15.16% จากเดือนพฤษภาคม 6,015 คัน  

สถิติรถจดทะเบียนใหม่สถิติรถจดทะเบียนใหม่

แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)กล่าวว่า รถจดทะเบียนใหม่เดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 255,772 คันลดลง 13.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน(%YoY) ที่มีจำนวน 294,958 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ส่วนบุคคล 249,757 คันลดลง 13.13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสาธารณะ 6,015 คัน ขณะที่รถจดทะเบียนใหม่พลังงานไฟฟ้าหรือ EV มีจำนวน 19,561 คัน แบ่งเป็นรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) จำนวน 8,068 คัน รถไฟฟ้าไฮบริด (HEV) จำนวน 10,789 คัน รถไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) จำนวน 704 คัน  

สำหรับรถจดทะเบียนใหม่ที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล 249,757 คันคิดเป็น 97.65% ของยอดจดรถทะเบียนใหม่ทั้งหมดแบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 186,010 คันลดลง 8.26%YoY จาก 202,747 คัน รถนั่งไม่เกิน 7 คน 45,101 คันลดลง 24.73%YoY จาก 59,917 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลหรือ รถกระบะ  10,541 คันลดลง 36.80%YoY จาก 16,679 คัน รถแทรกเตอร์ 5,637 คัน ลดลง 3.85%YoY จาก 5,863 คัน และรถจักรยายนต์สาธารณะ 85 คัน ลดลง 32.54%YoY จาก 126 คัน 

ขณะที่รถนั่งเกิน 7 คนมีจำนวน 1,762 คันเพิ่มขึ้น 8.97% YoY จาก 1,617 คันและรถแท็กซี่ 372 คัน เพิ่มขึ้น 81.46% YoYจาก 205 คันในเดือนพฤษภาคม 2566  

สำหรับรถจดทะเบียนสะสม ณ 31 พฤษภาคม 2567 มีทั้งสิ้น 44,647,695 คัน แบ่งเป็น

  • รถยนต์สาธารณะ 43,268,296 คัน คิดเป็น 96.91%
  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล  22,697,458 คัน คิดเป็น 52.46%
  • รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน 12,005,043 คัน คิดเป็น 27.75%
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 7,087,571 คัน คิดเป็น 16.38%
  • รถแทรกเตอร์ 654,497 คัน คิดเป็น 1.51%
  • รถนั่งเกิน 7 คน จำนวน 449,176 คัน คิดเป็น 1.04%
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 126,103 คัน คิดเป็น 0.29%

ส่วนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,379,399 คัน คิดเป็น 3.09% โดยเป็นรถบรรทุก  1,251,211 คัน คิดเป็น 90.71% และรถโดยสาร จำนวน 127,613 คัน คิดเป็น 9.25% 

นายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการตลาด บริษัท สยามอินเตอร์การประมูล จำกัดเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมของรถที่ถูกยึดสะท้อนถึงความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือจากโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่า ปริมาณรถถูกยึดเพิ่มขึ้นมหาศาล โดยปี 2566 มีปริมาณรถที่ถูกยึดเข้ามามากที่สุดในรอบ 20ปีตั้งแต่เปิดบริษัทมาอยู่ที่ประมาณ 350,000คัน จากปกติอยู่ที่ 200,000-250,000 คัน 

สำหรับปี 2567  คาดการณ์ว่า ปริมาณรถถูกยึดเข้ามาที่บริษัทในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 คัน และต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีก 3-4ปี ซึ่งตัวเลขการยึดรถแท้จริงมีมากกว่านี้ แต่ถือว่าไฟแนนซ์ยังมีการประคองการยึดรถไว้

“ปัญหาปัจจุบันสะท้อนถึงการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพในอดีต มีการปล่อยสินเชื่อที่ให้ยอดโอเวอร์ไปจากความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจสะดุดขึ้นมา ผู้เช่าซื้อจึงไม่สามารถผ่อนชำระได้ ซึ่งการจะขอปรับโครงสร้างสินเชื่อรถยนต์ในไฟแนนซ์นั้น เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย เมื่อผู้เช่าซื้อผ่อนชำระไม่ไหว จึงตามมาด้วยการถูกยึดรถในที่สุด” นายสิทธิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรถถูกยึดเข้าสู่ลานประมูลจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาประมูลรถไม่ดี ทำให้มีส่วนต่างเยอะที่เจ้าหนี้จะไปฟ้องร้องเอากับลูกหนี้ เช่น หากรถที่ซื้อมามีราคา 100 บาท เมื่อถูกยึดมาประมูลขายออกได้ในราคา 50 บาท ดังนั้นผู้เช่าซื้อก็จะถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างอีก 50 บาท แต่เมื่อมีปริมาณรถเข้าสู่ลานจำนวนมาก จากที่เคยประมูลขายได้ 50 บาท ก็อาจเหลือเพียง 30 บาท นั่นหมายความว่า ผู้เช่าซื้อก็จะถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างมากขึ้นเป็น 70 บาท จึงเป็นการซ้ำเติมผู้เช่าซื้อที่ถูกยึดรถที่ยังต้องมีหนี้สินต่อไป  

ขณะเดียวกันรถในลานประมูลปัจจุบัน มีราคาที่ถูกมากจนน่าตกใจ โดยรถที่อายุเกิน 15 ปีแทบจะต้องแจกฟรี เพราะไม่มีคนเอา สาเหตุมาจากความเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การยึดรถเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรถ EV ที่เข้ามาดัมป์ราคาด้วย ยิ่งทำให้รถอายุเกิน 15ปี แทบจะไม่มีมูลค่าเลย ดังนั้นผู้รับกรรม จึงเป็นผู้เช่าซื้อ เพราะไฟแนนซ์หรือธนาคารที่ยึดรถมา ไม่ว่าราคาขายจะเป็นเท่าไหร่ก็ขาย เพราะสุดท้ายก็ไปฟ้องเอากับผู้เช่าซื้อ 

“กฎหมายเปิดทางเช่นนี้อยู่แล้ว ดังนั้นในลานประมูลจึงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ว่าราคาเท่าไหร่ก็ขาย แต่ที่มีกระแสข่าวว่า ในลานมีมอเตอร์ไซต์คันละ 100 บาท รถยนต์คันละ 3,000 บาทนั้น ในความเป็นจริงคือ แจกฟรี ซึ่งการปรับราคาของรถที่ไหลเข้ามายังลานประมูลนั้นจะมีกระบวนการ ใช้เวลาตั้งแต่ 3สัปดาห์ขึ้นไป”นายสิทธิศักดิ์กล่าว 

ส่วนรถ EV นั้นถือว่า ส่งผลกระทบทั้งระบบ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มาพร้อมกับการ disruption ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อประเทศจีนมีนโยบายผลิตสินค้าให้มีจำนวนมากและราคาถูก จึงทำให้รายที่ผลิตสินค้าราคาแพงในจีน ก็ต้องล้มหายตายจากไป ดังนั้นเราจึงได้เห็นรถ EV ที่ปรับราคาลงเร็ว ซึ่งตามปกติการปรับราคารถยนต์มักมีในทุกๆ 4 ปี แต่ในรถ EV ปรับราคาลงแทบจะทุกปี ดังนั้น รถที่ใช้น้ำมันจะขายไม่ได้ ถ้าราคารถ EV ต่ำกว่าล้าน เห็นได้จากยอดขายรถ EV ปีที่แล้วโตถึง 30% ขณะที่รถใช้น้ำมันขายแทบไม่ได้

รวมถึงรถยนต์มือสองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะผู้ที่จะซื้อรถมือสอง ก็ต้องเทียบราคากับรถ EV ป้ายแดงด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุทีราคารถมือสองในปีที่ผ่านมาตกลงไปถึง 30% จากปกติอยู่ที่ 10% เท่านั้น เรียกได้ว่า เต็นท์รถมือสองบาดเจ็บระนาว โดยเฉพาะเต็นท์ที่มีสต็อกเยอะๆ ซึ่งในปีนี้ ราคารถมือสองก็ยังตกอยู่ คาดว่า ประมาณ 15-20% ปัจจุบันลานประมูลรถมีไม่ถึง 10แห่ง ในขณะที่เต็นท์รถมือสองมีร่วม 20,000 เต็นท์ เมื่อสัดส่วนกำไรลดลงเช่นนี้เชื่อว่า จำนวนเต็นท์รถมือสองน่าจะหายไปประมาณ 30% เหลือเพียง 13,000-14,000 เต็นท์เฉพาะรายที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งหลังจากนี้เต็นท์รถจะเผชิญกับของจริง 

“เต็นท์รถมือสองควรต้องมีการปรับตัว โดยการมีสต็อกให้น้อย ขายให้ไว ขายทุกราคา กำไรนิดหน่อยก็ควรต้องขายออกไปแล้วค่อยหารถใหม่เข้ามา เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าวันพรุ่งนี้ราคาจะปรับลดลงมาอีกเท่าไหร่ เพราะราคาปรับลงทุกๆ 3เดือน ต่างกับในอดีตที่ปรับราคาปีละครั้ง โดยการปรับราคาอ้างอิงไปตามรถอีวี อีวีปรับลงรถมือสองก็ต้องปรับ” 

อีกทางรอดของเต็นท์รถมือสองคือ การนำสื่อออนไลน์เข้ามาช่วย โดยการทำคอนเทนท์ดีๆ ก็สามารถดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศมาซื้อได้ เต็นท์อาจมีสต็อกแค่ 100 คัน แต่สามารถขายรถได้ 200 คันจากการใช้สื่อออนไลน์ 

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ วันที่รถ EV มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจนการชาร์จแบตเตอรี่ 1ครั้ง สามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต และมีราคาเพียง 400,000-500,000 บาท หากวันนั้นมาถึง คนจะไม่ใช้รถมือสองอีกต่อไป ซึ่งทุกคนต้องปรับตัว แต่อย่างไรก็ตามมุมมองต่อธุรกิจจำหน่ายรถมือสอง ยังถือว่า เป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรดี เพราะอัตรากำไรที่ 20-50% ซึ่งถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ  

นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันรถในโกดังรวมรถทุกประเภทอยู่ที่ 30,000 คัน ซึ่งถือว่า เยอะมาก โดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีร่วม 3,000 คัน ถือว่ามากที่สุดในประเทศ สะท้อนว่า ผู้ประกอบการไม่มีงาน ซึ่งราคารถบรรทุกตกลงค่อนข้างมากถึงหลักล้านบาท ขณะที่รถเก๋งราคาตกลงหลักแสน สัดส่วนรถยนต์ และรถกระบะถูกยึดในวันนี้มีจำนวนเท่าๆกัน จากเดิมที่รถเก๋งมีสัดส่วนมากกว่าอยู่ที่ 60-70% และรถกระบะอยู่ที่ 30-40% สะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไม่ดี ชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านที่ต้องใช้รถกระบะ เพื่อทำมาหากินโดนยึดมากขึ้น

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,010 วันที่ 18 – 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567