เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ยุบสภา…เมื่อไรดี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการยุบสภาของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการวางแผนยุบสภาของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.09 ระบุว่า นายกฯ ไม่มีแผนจะยุบสภา แต่วางแผนจะอยู่ยาวจนครบวาระในปี 2566 รองลงมา ร้อยละ 8.91 ระบุว่า ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ร้อยละ 8.23 ระบุว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 6.09 ระบุว่า หลังจากกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 4.95 ระบุว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ผ่านความเห็นชอบจากสภาประมาณเดือนสิงหาคม 2565 และร้อยละ 3.73 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรยุบสภา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.79 ระบุว่า นายกฯ ควรยุบสภาโดยเร็วที่สุด รองลงมา ร้อยละ 23.38 ระบุว่า นายกฯ ไม่ควรยุบสภาและให้อยู่ยาวจนครบวาระในปี 2566 ร้อยละ 5.18 ระบุว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 4.19 ระบุว่า ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ในปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ร้อยละ 3.81 ระบุว่า หลังจากกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 3.43 ระบุว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ผ่านความเห็นชอบจากสภาประมาณเดือนสิงหาคม 2565 และร้อยละ 1.22 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความมั่นคงของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.11 ระบุว่า ไม่มีความมั่นคงเลย รองลงมา ร้อยละ 33.05 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นคง ร้อยละ 16.38 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นคง และร้อยละ 7.46 ระบุว่า มีความมั่นคงมาก
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.84 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.89 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.28 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.51 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 48.90 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.10 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 7.46 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 13.86 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.27 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 33.21 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 26.20 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.04 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.05 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.23 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.68 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 22.70 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.95 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.59 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.76 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่าง ร้อยละ 27.42 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.96 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.69 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.37 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.49 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.07 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 8.15 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.63 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.33 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.78 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.45 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 22.16 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.43 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.07 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 20.56 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.36 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.81 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.13 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.03 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.27 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.84 ไม่ระบุรายได้