องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) แสดงความผิดหวังต่อรายงานข่าวที่ระบุว่าเฟซบุ๊ก ยอมปฏิบัติตามคำร้องคัดกรองของรัฐบาลไทย บล็อกกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์
ราซา อับดุล ราฮิม รักษาการผู้อำนวยการร่วมฝ่ายเทคโนโลยีขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการขององค์กร ตอบสนองต่อข่าวเฟซบุ๊กยอมปฏิบัติตามคำร้องขอเซ็นเซอร์จากเจ้าหน้าที่ของไทย ระบุว่า “เป็นอีกครั้งที่เฟซบุ๊กยอมแพ้ต่อความต้องการของรัฐบาลผู้กดขี่ของชาติต่างๆ วิงวอนร้องขอสิทธิมนุษยชนอย่างนอบน้อม ก่ออีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นอันตรายต่อการแสดงออกทางออนไลน์”
“ทางบริษัทควรทำทุกอย่างภายในขอบเขตอำนาจที่มี ขัดขืนข้อเรียกร้องเซ็นเซอร์ตามอำเภอใจของรัฐบาลไทย สิทธิมนุษยชนไม่ใช่การเข้าถึงตลาด มันควรต้องมีการขีดเส้นใต้อย่างเด็ดขาด” ถ้อยแถลงระบุ
คำแถลงบอกอีกว่า “นิรโทษกรรมสากลรู้สึกยินดีที่ตอนนี้เฟซบุ๊กมีแผนดำเนินการทางกฎหมายคัดค้านข้อเรียกร้องคัดกรองของรัฐบาลไทย แต่อันตรายได้เกิดขึ้นไปแล้ว บริษัทไม่ควรทำตามข้อเรียกร้องตั้งแต่แรก”
“คำขู่ดำเนินการทางกฎหมายของรัฐบาลไทยที่บีบให้เฟซบุ๊กยอมให้ความร่วมมือเซ็นเซอร์ทางออนไลน์ เทียบเท่ากับเป็นการประทุษร้ายอีกครั้งหนึ่งต่อเสรีภาพการแสดงออกทางออนไลน์ ตามที่องค์การนิรโทษกรรมเคยรายงานในเดือนเมษายน 2020 ไทยใช้กฎหมายคลุมเครือต่างๆนานา หว่านเมล็ดพืชแห่งความกลัวแก่ประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์” คำแถลงระบุ
องค์การนิรโทษกรรมระบุต่อว่า “เจ้าหน้าที่ไทยควรเลิกราวีพวกผู้ประท้วงอย่างสันติ ทั้งทางออนไลน์และบนท้องถนน ในขณะที่การชุมนุมยกระดับขึ้น เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของไทยหาทางเจรจาอย่างสร้างสรรค์และเคารพต่อเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออก”
เมื่อวันอังคาร(25ส.ค.) เฟซบุ๊กบอกว่าพวกเขาอึดอัดใจในการต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ไทยในการเข้าถึงเนื้อหาของกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน โดยระบุในถ้อยแถลงว่า “ข้อเรียกร้องลักษณะนี้ ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแสดงออกของผู้คน” โฆษกเฟซบุ๊กกล่าว “เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน และเตรียมดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคัดค้านข้อเรียกร้องนี้”
อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้เจาะจงถึงลักษณะของการคัดค้านทางกฎหมาย
ต่อมา เฟซบุ๊กได้ออกคำแถลงระบุเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่ Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน”
“ขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้ การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาล เช่นในกรณีนี้ ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Facebook” ถ้อยแถลง
Thailand Vision