สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวมติที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย โดยถูกชี้มูลความผิดทั้งทางอาญา และทางวินัย ส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างฯ ของหน่วยงานนั้น โดยใน 20 สำนวนนี้ มีผู้ถูกชี้มูลเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : เตรียมปิดฉากคดี GT200-Alpha6 ป.ป.ช.ชี้มูลกราวรูดกว่า 100 คน 20 สำนวน-ระดับ‘บิ๊ก’ด้วย)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันว่า อดีตหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่อยู่ในข่ายเป็นผู้ถูกชี้มูลด้วย คือ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จากการอนุมัติจัดซื้อสินค้า จำนวน 3 ครั้ง โดยการจัดซื้อครั้งที่ 1 และครั้งที่ 3 เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง จากการไม่ตั้งผู้ชำนาญการ อนุมัติเบิกจ่าย และไม่ส่งสำเนาสัญญา ส่วนการจัดซื้อครั้งที่ 2 เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดวินัยร้ายแรง จากการอนุมัติจัดซื้อในราคแพงกว่าการจัดซื้อครั้งแรก
ขณะที่ผู้สื่อสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ เพื่อให้ชึ้แจงกรณีปรากฏชื่ออยู่ในข่ายเป็นผู้ถูกชี้มูลความผิดดังกล่าว แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า “ไม่มีมาตรา 157 ไม่ใช่ข้อกล่าวหานี้”
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ชี้แจงต่อว่า “ข้อกล่าวหาที่ได้รับก่อนหน้านี้ ก็คือว่า ประเด็นที่ 1. ตอนที่มีการปรับราคาจัดซื้อในครั้งที่ 2 ทำไมถึงไม่มีการตรวจสอบในเรื่องนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่ผู้อำนวยรักษาการเป็นผู้ที่เซ็นแทน เพราะฉะนั้นมันเหมือนว่าทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการ เพราะพอมาถึงเรามันก็เป็นเรื่องที่เสนอไปสำนักงบประมาณแล้ว ประเด็นที่ 2. ก็คือการสั่งซื้อเครื่องทำไมไม่ตั้งผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตรงนี้มันก็ไม่ใช่ข้อบังคับ และก็มีข้อชี้แจงมาแล้ว และประเด็นที่ 3. ที่ ป.ป.ช.กล่าวหามาก็คือว่าทำไมไม่ส่งสัญญาการจัดซื้อไปให้กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องขอชี้แจงว่ามันเป็นเรื่องของระบบราชการ ที่เขายืนยันแล้วว่ามีการส่งเรื่องไปแล้ว”
“ประเด็นสำคัญก็คือว่าครั้งนี้ถ้าหากมีการกล่าวหาตัวหมอเอง (พ.ญ.พรทิพย์) เขาต้องเรียกให้หมอไปชี้แจง ซึ่งหมอยังไม่ได้ชี้แจงเลย แล้วเขาจะตัดสินได้แล้วหรือ ซึ่งส่วนตัวก็สงสัยว่าเขาแจ้งข้อกล่าวหาได้แล้วหรือ” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ระบุ
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ยังกล่าวด้วยว่า “ที่ผ่านมาการไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. เป็นการไปชี้แจงตามที่เป็นข้อกล่าวหาที่ระบุมาเบื้องต้นแล้ว ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าการกล่าวหาด้วยมาตรา 157 มันก็เป็นปกติอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เข้าใจว่าข้อกล่าวหามันเป็นในรายละเอียด ซึ่งก็คือ 3 ประเด็นที่ได้ยกให้ฟังไปแล้วเบื้องต้น แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของขั้นตอน เขาต้องให้เราชี้แจงตามสิทธิ์ ซึ่งก็สงสัยว่าแล้วเขาจะมาเร่งแจ้งเราได้อย่างไร อีกทั้งเรื่องนี้มันก็นานมากแล้ว และเอกสารก็หาไม่เจอเพราะมันตั้งเป็นสิบกว่าปีมาแล้ว ซึ่งถ้าสถาบันเขาหาเอกสารไม่เจอ แล้วจะลงโทษตัวหมอได้อย่างไร”
“สิ่งที่สำคัญก็คือข้อกล่าวหาเมื่อเวลาผ่านไปจากปี 2550 หรือเป็นระยะเวลากว่า 13 ปีแล้ว ข้อกล่าวหาที่เขากล่าวหาตัวหมอนั้นเราจำเป็นต้องได้เอกสารมาก่อน ซึ่งเราก็พยายามชี้แจงมาโดยตลอด” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ระบุ
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวย้ำด้วยว่า “ส่วนตัวแล้วเราจะต้องมีสิทธิ์ชี้แจงด้วย ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ก็สงสัยว่าทำไมมันเร็วมาก และอาจจะทำให้เราหาเอกสารไม่ทันได้ เพราะยังติดปัญหาในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย”
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า การชี้มูลความผิดในชั้น ป.ป.ช. เป็นเพียงกระบวนการขั้นต้น ยังเหลือในชั้นอัยการ และชั้นศาล คดียังไม่ถือว่าสิ้นสุด ผู้ที่ปรากฎชื่อถูกกล่าวหาจึงยังถือว่าบริสุทธิ์อยู่