วันนี้ ( 8 พ.ค.) ที่ กองปราบปราม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เดินทางมาร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าคดี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์” วางยาฆ่าชิงทรัพย์เหยื่อ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคลี่คลายคดีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ยังได้เชิญ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานฯ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าไซยาไนด์ ทั้งบริษัทผลิต โรงงานที่นำเข้า วัตถุประสงค์ของการนำเข้าและนำไปใช้ และการครอบครองไซยาไนด์ รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ได้เรียกกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาชี้แจงรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมและการกำกับดูแล เพราะไซยาไนด์มีไว้สำหรับอุตสาหกรรมและเพื่อศึกษาวิจัยเท่านั้น ซึ่งหากพบว่าการที่ไซยาไนด์หลุดลอดออกไปจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีความผิดด้วย เหมือนกับกรณีเรื่องปืนหาย ที่ผู้กำกับการสถานีตำรวจนั้นๆ จะต้องได้รับโทษ 157 ในฐานะผู้บังคับบัญชา และโรงงานที่นำเข้าไซยาไนด์ เบื้องต้นยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ซึ่งจะมีการประชุมในวันนี้ก่อน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าทางคดี วันนี้เป็นการเรียกประชุมที่กองปราบปรามทั้งหมดตามคำสั่งของ ผบ.ตร. ที่ให้นำสำนวนคดีมารวมไว้ที่กองปราบปราม เบื้องต้นขณะนี้ ยังไม่มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับใคร แต่ยอมรับว่าในช่วง 4 วันที่ผ่านมาคดีมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งการขยายผลในทางคดี และคาดว่าภายใน1-2 วันนี้ จะมีความชัดเจนว่า จะมีใครเกี่ยวข้องกับการร่วมกันฆ่าหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนในกรณีของ น.ส.มณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ หรือ “ทราย” ที่เสียชีวิตในพื้นที่ สน.ทองหล่อ วันพรุ่งนี้ (10 พ.ค.) จะทำการสอบปากคำแพทย์นิติเวชเพื่อประกอบสำนวนคดี หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถออกหมายจับแอมเพิ่มในคดีนี้ได้ ส่วนในวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะเรียกบุคลากรทางการแพทย์ มาสอบปากคำในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อขอความเห็นภาพรวมของคดีที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์และการใช้สารไซยาไนด์ทั้งหมด ที่สโมสรตำรวจ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้ขึ้นศาลด้วย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ การสอบปากคำพ่อแม่ของ พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามีของแอม นั้นพบว่าให้การเป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถเปิดเผยคำให้การได้ เพราะจะกระทบกับรูปคดี ส่วนการสอบปากคำนอมินีที่มีชื่อบนกล่องพัสดุว่าเป็นคนสั่งซื้อไซยาไนด์ให้นางสรารัตน์นั้น ขณะนี้พนักงานสอบสวนสอบปากคำไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ขอยังไม่ให้ข้อมูลรายละเอียดในสำนวนเรื่องคำให้การ เพราะเป็นประเด็นสำคัญในสำนวน ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่านางสรารัตน์เป็นคนสั่งโดยที่เขาไม่ทราบว่าถูกนำชื่อไปแอบอ้างสั่งสิ่งของ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเสียชีวิตของนางสาวมณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ หรือ ทราย นั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 และคาดว่าเป็นเหยื่อรายแรกที่ถูกแอมวางยาพิษ โดยทรายนั้นเป็นเพื่อนสนิทกับแอม และให้แอมยืมเงินหลายครั้ง ครั้งละประมาณ 50,000 บาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 พบว่า ทรายเสียชีวิตที่ บ้านพักแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยได้โทรบอกแม่ว่า แอมจะไปรับที่สนามบิน ต่อมาถูกพบเสียชีวิตที่บ้านพัก เนื่องจากระบบหัวใจหายใจล้มเหลว หลังเสียชีวิตมีทรัพย์สูญหายเป็นพระเลี่ยมทอง 1 องค์ สร้อยคอหนัก 3 บาท โดยมารดาของทรายระบุว่า แอมไม่ได้ไปร่วมงานศพของทราย และตนเคยโทรถามเรื่องทรัพย์สินของทราย แต่แอมอ้างว่าสามีของทรายให้นำไปประมูลขาย แล้ว
ต่อมาเวลา 13.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกมาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานในคดีแอม ไซยาไนด์ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมในวันนี้ว่า คณะทำงานได้มอบหมายงานเก็บประเด็นรายละเอียดในสำนวนการสอบสวนในทุกคดีที่ยังขาดอยู่ โดยสำหรับคดีของ น.ส.มณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ หรือ “ทราย” ที่เสียชีวิตในพื้นที่ สน.ทองหล่อนั้น จะมีการออกหมายจับแอมเพิ่มในข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนในวันพรุ่งนี้ ส่วนคดีของก้อย เท้าแชร์ในจังหวัดราชบุรี ขณะนี้มีความคืบหน้ากว่า 80% ยังรอข้อมูลการใช้โทรศัพท์และเส้นทางการเงินบัญชีทั้งหมดเพื่อประกอบสำนวนคดีเพิ่มเติม และจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการออกหมายจับเพิ่มเติมภายในสองวันนี้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีอื่นๆ นั้น พนักงานสอบสวนยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าสามารถออกหมายจับในข้อหาอื่นได้หรือไม่ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ 100% โดยหลังจากรวบรวมพยานหลักฐานในแต่ละคดีเสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบสวนจะทยอยส่งสำนวนทุกคดีฟ้องต่ออัยการในเวลาไล่เลี่ยกัน ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดส่วนกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กรมโรงงานไม่ได้บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่นั้น จากการพิจารณาข้อมูลพบว่าการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีความหละหลวมมาก และยังมีช่องโหว่ในข้อกฎหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในกรณีอื่นได้อีก และขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่ามีสารไซยาไนด์หลุดออกจากระบบไปจำนวนเท่าไหร่
“ส่วนบุคคลที่นำไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นักแสดงสาวที่นำไปใช้ไล่สัตว์เลื้อยคลาย เป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยตำรวจเป็นผู้ทำสำนวนและได้รวบรวมพยานหลักฐานและข้อมูลจากการสอบปากคำบุคคลนี้ไว้ทั้งหมดแล้ว” รอง ผบ.ตร.กล่าว