วันนี้ (7 ก.ย. 65) เวลา 09:10 น. นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา ภายหลังปรากฏเอกสารที่ถูกอ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้จัดทำและส่งกลับเพื่อประกอบการวินิจฉัยคำร้องเรื่องการสิ้นสุดลงของวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นการโยนหินถามทางว่า ถ้าออกมาแบบนี้แล้วสังคมไทยจะมีกระแสตอบรับอย่างไร ส่วนในมิติทางการเมือง พลเอก ประยุทธ์ อาจมีโอกาสไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ องคาพยพต่าง ๆ อาจเสียความเชื่อมั่นได้ เอกสารนี้ก็อาจเป็นขวัญกำลังใจต่อการสนับสนุนอำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ ในรัฐบาล ทั้งนี้ เราก็ยังไม่มั่นใจว่าเอกสารฉบับนั้นเป็นของ คุณมีชัย 100% หรือเปล่า
แต่ถ้าเป็นเอกสารจริง นายรังสิมันต์ มองว่า ก็อาจจะมีผลต่อการชี้นำได้ โดยเฉพาะสัดส่วนเสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5:4 การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะพลิกกันได้ ยอมรับว่ามีโอกาสมากขึ้นที่ธงจะเปลี่ยนไป และเท่ากับเรามี คุณมีชัย ถึง 2 คน เพราะคนเก่ามีความเห็นต่อกรณี 8 ปีอย่างหนึ่ง กับคนใหม่ให้ความเห็นตรงกันข้าม ส่วนตัวมีความเห็นตรงกับคุณมีชัยคนเก่า เพราะมีความจำเป็นที่เราจะต้องนับวาระดำรงตำแหน่งของ พลเอก ประยุทธ์ ต่อเนื่องกันก่อนรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่การดำรงตำแหน่งของ พลเอก ประยุทธ์ จะไม่ครบ 8 ปี
ส่วนคำโต้แย้งในเอกสารดังกล่าวต่อความเห็นในบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ทราบว่ามีเอกสารเผยแพร่ออกมาเป็นบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501 ซึ่งรับรองรายงานการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เท่ากับคำกล่าวอ้างว่าจดไม่ครบนั้น ไม่ถูกต้อง นายรังสิมันต์ ยังมองว่า การตีความกฎหมายไม่ได้ยึดโยงกับคน แต่ยึดโยงกับวันที่เขาประชุมว่าพูดอย่างไร ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องดูคำกล่าวในขณะนั้น ไม่ใช่ความเห็นภายหลัง
“คำพูดใด ๆ ที่กล่าวในที่ประชุม ได้เป็นนายไปแล้ว เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าเจตนารมณ์คือการป้องกันการผูกขาดอำนาจ ป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งนานเกินไปจนเกิดวิกฤตทางการเมือง ถ้าตีความว่าเริ่มต้นจาก 6 เม.ย. 60 ก็จะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หวังว่าผู้มีอำนาจจะรับฟัง และนำไปสู่การตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าอะไรที่แย่ก็ให้ฝ่ายตรงข้าม อะไรที่ดีก็เก็บไว้กับตนเอง ครั้นกฎหมายเป็นผลเสียกับตนเองก็พยายามเบี่ยงเบน
นายรังสิมันต์ คาดว่าสิ่งที่สังคมอยากเห็นคือ
1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก
2. จากนั้น เปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี
3. คืนอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีกลับสู่ประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎร เตรียมสู่การเลือกตั้งต่อไป