กระทรวงเกษตรฯ วิเคราะห์ผลกระทบภาคเกษตรไทยหลัง โจ ไบเดน ชนะศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ “สศก. “เผยไทยได้โอกาส ขยายตลาดสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้(11พ.ย.)ว่า จากผลการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลกระทบทั้งมุมโอกาสและปัญหาต่อประเทศไทยในประเด็น
ความสำคัญของสหรัฐต่อโลกต่อไทยและผลกระทบทั้งมุมบวกลบที่มีต่อประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเกษตร
ในภาพรวม สหรัฐอเมริกา มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก รัฐบาลสหรัฐถือว่ามีอิทธิพลอันดับต้นๆ ของโลก และการค้าโลก ใช้เงินสกุล US ดอลลาร์ เป็นหลัก การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกการเคลื่อนไหวของค่าเงิน US ดอลลาร์ ส่งผลต่อค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลก
สหรัฐคือตลาดส่งออกใหญ่อันดับ2 ของไทย เงินสำรองระหว่างประเทศไทยของไทย ก็มีเงินสกุล USดอลลาร์ อยู่ไม่น้อย ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตาม US ดอลลาร์สหรัฐ ยังคงให้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) กับสินค้า 644 รายการ สหรัฐคือกลุ่มทุนซีกโลกตะวันตกที่ลงทุนในไทยมากอันดับต้นๆ
นโยบายของสหรัฐภายใต้การนำของผู้นำคนใหมจะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ มีแนวโน้มกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น การค้าจะเปิดเสรีมากขึ้น สหรัฐจะเข้าสู่กติกาการค้าโลก
นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มรายจ่ายภาครัฐเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีธุรกิจและภาษีคนรวย ซึ่งอาจมีผลทำให้ภาวะการลงทุนภายในประเทศของสหรัฐชะลอตัวลง แต่จะเป็นผลดีต่อไทยและประเทศในแถบเอเชียที่จะเป็นแหล่งรองรับนักลงทุนสหรัฐที่ย้ายฐานออกมาโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมเกษตร ด้านการต่างประเทศ นโยบาย Free Trade with Alies เน้นทำการค้าเสรีแบบมีเงื่อนไขแต่ยังคงถ่วงดุลอำนาจจีน โดยสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศพันธมิตรเดิมโดยเฉพาะสมาชิกในความตกลงการค้า TPP เดิม ด้านการเกษตรภาพรวม ขยายฐานเสียงสู่ชาวอเมริกันชนชั้นกลางในเขตชนบท ด้านนโยบายการค้าสินค้าเกษตร เน้นนโยบายการค้าที่ส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวอเมริกัน เน้นการจัดการการผลิตที่ล้นตลาด (global overcapacity) เพื่อป้องกันการทุ่มตลาดและส่งผลต่อการค้า รวมทั้งเข้มงวดในมาตรการด้านการจัดการและกำหนดบทลงโทษกับคู่ค้าที่ฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าสหรัฐจะมีการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สหรัฐจะหันกลับมาใส่ใจกับการลดปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยวางแผนตั้งเป้าหมายให้อเมริกาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรรายแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net-zero emission) และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำ การขนส่ง พลังงาน ให้เพียงพอและรองรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้
“ผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 ซึ่ง โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะนั้น สศก. ได้ติดตามและวิเคราะห์ประเมินทิศทางนโยบายต่อภาคเกษตร คาดว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศจะผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับที่ โจ ไบเดนให้ความสำคัญ รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยอาหาร การแสดงที่มาของผลผลิต การควบคุมการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยไทยมีโอกาสขยายการเปิดตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ออแกนิค หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งการเน้นนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐให้เติบโต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าเกษตรและอาหารของไทยด้วยเช่นกัน” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้านนางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สศก. กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การค้าระหว่างไทยและสหรัฐที่ผ่านมาว่า จากข้อมูลการส่งออกตั้งแต่ปี 2560 – 2562 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ มูลค่าเฉลี่ย 8.45 แสนล้านบาท โดยส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าเฉลี่ย 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.18 ของมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐทั้งหมด สินค้าส่งออกมูลค่าสูงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์และปลาและสัตว์น้ำ ของปรุงแต่งจากพืชผัก ผลไม้และลูกนัต ธัญพืช อาหารสัตว์เลี้ยง และยางพารา
อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้ประกาศการระงับสิทธิ GSP สำหรับสินค้าไทยจำนวน 231 รายการ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ด้วยเหตุผลว่าไทยไม่ปรับปรุงกฎระเบียบที่จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดเนื้อสุกรของไทยได้อย่างเพียงพอ โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ เป็นสินค้าเกษตรจำนวน 44 รายการ แต่มีการนำเข้าในตลาดสหรัฐเพียง 22 รายการ ที่จะได้รับผลกระทบทำให้มีราคาขายสูงขึ้นจากการเสียภาษีนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0 เป็นร้อยละ 1.9-9.6 ได้แก่
สินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บตามมูลค่าสินค้า (Ad valorem) จำนวน 13 รายการ เช่น พืชมีชีวิต ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช พืชผักปรุงแต่ง กลูโคสและน้ำเชื่อมกลูโคส และเครื่องเทศ ที่จะเสียภาษีนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นประมาณ 17.72 ล้านบาท และ สินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีตามสภาพ (Specific Rate) 9 รายการ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าของสินค้า เช่น ถั่วลิสงปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย เมล็ดถั่วบีน เมล็ดพืชผักที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก มะม่วงปรุงแต่ง และถั่วมะแฮะแห้ง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่อาจตามมาในอนาคต ไทยจึงควรเร่งปรับตัว โดยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเร่งเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้า (Value Added) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจและยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น และให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ