วันนี้ (30 เม.ย.) นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราว กรณียกคำร้องเเกนนำม็อบราษฎรหลายครั้ง ว่า การปล่อยชั่วคราวตามสิทธิสามารถกระทำได้ตลอด แต่ต้องดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ว่า เหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันเป็นเพราะอะไร ซึ่งศาลเราพิจารณาตามลักษณะภาพและการกระทำของจำเลยแต่ละคน ในคดีที่ถูกฟ้องว่าได้กระทำอะไรบ้าง จึงไม่อนุญาต โดยอาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น
“เหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่กระทำมาแล้ว แล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อเขาฟ้องมาเเล้วว่าคุณทำอย่างนี้ ปล่อยคุณก็ไปกระทำอีกอันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้ หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้คือไปก่อเรื่องอื่นที่ผิดกฎหมาย ศาลก็พิจารณาถึงข้อนี้จึงไม่อนุญาตไป” อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุ
นายสิทธิโชติ กล่าวต่อว่า การขอประกันครั้งต่อไป จึงต้องดูว่าสิ่งที่ศาลไม่อนุญาตเพราะเหตุใด และจำเลยหรือผู้ต้องหาจะสามารถแก้ไขเหตุนั้น หรือทำให้เหตุนั้นมันเปลี่ยนเเปลงไปเเล้ว เหมือนกรณีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เเละ นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ ที่ทั้ง 3 คนได้แถลงต่อศาลเองว่าจะไม่กระทำเเบบเดิม เเละศาลก็รับเงื่อนไข ซึ่งช่วงที่ถูกควบคุมตัวอาจจะไปนั่งคิด พิจารณาขึ้นมาได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันไม่ควรจะทำและเข้าใจในคำสั่งศาลว่าคำว่าไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องมาจึงได้แถลงต่อศาลเองว่าจะไม่กระทำเเบบเดิม มันจึงเป็นเหตุที่ถูกเเก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทนายความแกนนำคณะราษฎร อ้างว่ าได้ยื่นคำร้องประกันโดยใช้เงื่อนไขเดียวกับ 3 คนดังกล่าว
นายสิทธิโชติ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยืนยันว่า ไม่ใช่ คำร้องที่ยื่นมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา แตกต่างกับ 3 คนที่ได้ประกันตัวไปก่อนหน้านี้หลายประเด็น ของ 3 คนก่อนนี้นั้น ตัวจำเลยเองเป็นคนลงชื่อในคำร้องและยืนยันต่อศาลขอให้ศาลทำการไต่สวน และแถลงต่อศาลด้วยตนเอง ว่า จะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้องและจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ส่วนข้อกำหนดอื่นก็ให้ศาลสั่ง ซึ่งศาลเองก็ไม่สามารถสั่งอย่างอื่นได้ต้องสั่งตาม ป.วิอาญามาตรา 108 /1 ที่ว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่นศาลก็จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพราะจำเลยเป็นคนเสนอเงื่อนไขเองและจำเลยก็เป็นคนแถลงเอง ไม่ใช่ทนายความเป็นคนแถลงแต่ฝ่ายเดียว มันแตกต่างกัน
“ส่วนที่ทนายความยื่นคำร้องเมื่อวาน ทนายยื่นเอง ในเนื้อหาก็ไม่ได้พูดถึงเลยพูดเพียงแต่ว่า ให้ศาลกำหนดเงื่อนไขเอา ซึ่งศาลจะไปบังคับเขาก็ไม่ได้ ศาลจะไม่บังคับใคร แต่ว่าหากตัวจำเลยเห็นว่าสิ่งที่ศาลสั่งว่าเกรงจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นที่ศาลก็บอกแล้วว่าที่ไม่ให้ประกันเกรงจะไปกระทำซ้ำในความผิดที่ฟ้อง เเละจำเลยตัดสินใจจะไม่กระทำเเบบนั้นอีกพร้อมยอมรับในกระบวนการยุติธรรมอีกศาลก็จะพิจารณา” นายสิทธิโชติระบุ
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวต่อว่า ที่ต้องระบุเรื่องการยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในตอนหลังมีเหตุแทรกซ้อน ในกระบวนการพิจารณาซึ่งศาลได้กระทำตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง แต่อยู่ๆ มาบอกว่าไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม และขอถอนกระบวนการพิจารณาถอนทนายพร้อมไม่ลงชื่อ ในรายงานพิจารณาพร้อมกับเอารายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเองภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว ทั้งที่จริงเเล้วเรื่องนี้อาจจะต้องเข้าข่ายผิดละเมิดอำนาจศาลด้วย เเต่ศาลเห็นว่าเราไม่ ควรดำเนินคดีอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไป จึงได้มองแต่เพียงว่าเขาไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาเเละไม่ลงชื่อในการพิจารณาคดีต่อไป ตรงนี้มันทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสิ่งที่จำเลยยืนยันว่ายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้เสนอมาทำให้ศาลไม่เชื่อว่าจะกระทำตามเงื่อนไขได้ในเคสของ 3 คนในตอนแรกจึงให้ประกันเเต่นายปติวัฒน์ ที่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ส่วนอีก 2 คนไม่ได้ประกันตัวในครั้งนั้น จนมาภายหลังมีการเปลี่ยนเเปลงเเก้ไขตั้งทนายเเละยอมรับกระบวนการพิจารณาตามปกติ จนศาลเชื่อถือว่าปฏิบัติได้จึงอนุญาตปล่อยนายสมยศ และ ไผ่ ซึ่งเราสั่งไปตามกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรเเปลกพิสดาร ทุกอย่างมันขึ้นกับข้อเท็จจริงเเบบนี้
“ทนายไม่ได้ยื่นรายละเอียด ว่าเขาจะไม่ทำอะไรบ้างตามที่ศาลเคยสั่งไป สองตัวจำเลยไม่เคยพูดหรือไม่เคยเขียนรายละเอียดอะไรเลย แม้กระทั่งวันที่ออกศาลมาพิจารณาพร้อมกับหมอลำแบงค์ตัวจำเลยคนอื่นก็อยู่ด้วยกันตลอดจำเลยทั้ง 7 คนที่ยื่นประกันก็ไม่เสนอเงื่อนไขอะไร
เงื่อนไขที่อ้างว่าเจ็บป่วยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทางราชทัณฑ์ก็ยืนยันตลอด คือมันไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ตรง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความกดดันต่อความรู้สึกผู้พิพากษา ซึ่งผู้พิพากษาจะต้องทำงานโดยปราศจากความกดดันใดๆทั้งสิ้น” อธิบดีผู้พิพากษากล่าวย้ำ
เมื่อถามว่า ในส่วนข้อเท็จจริงที่ต่างพูดไม่ตรงกันเรื่องความเจ็บป่วยของจำเลยกับทางราชทัณฑ์จะสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า เห็นว่า ฝ่ายม็อบผู้ชุมนุมจะไปยื่นคำร้องต่อราชทัณฑ์ ขอเข้าไปพบดูอาการเเละขอหมอมาตรวจอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ เเละก็ต้องลองขออนุญาตดูว่าจะใช้หมอจากภายนอกได้หรือไม่ กรณีที่ไม่เชื่อถือหมอข้างในของราชทัณฑ์ คิดว่าไม่น่าจะขัดข้อง หากพาหมอเข้าไปตรวจสุขภาพ ดีกว่าการกล่าวอ้างลอยๆ สร้างกระเเสมากดดันศาล